อย.เผยพีพีเอกับภาวะเลือดออกในสมองของเด็กทารก

ข่าวทั่วไป Thursday July 12, 2001 09:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.ค.--อย.
อย.เผยรายงานที่เชื่อว่าเกิดภาวะเลือดออกในสมองของเด็กทารกชาวอเมริกันจากการใช้ยาแก้หวัดที่มีพีพีเอเป็นส่วนผสมเพียงครั้งเดียว ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ "เวชศาสตร์ฉุกเฉินของอเมริกา" ชี้ชัดเด็กทารกก็มีความเสี่ยงจากอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงทางสมองจากการใช้ยาพีพีเอเช่นเดียวกับผู้ใหญ่และเด็กโต เชื่อ ไม่มีใครทราบว่ามีผู้ป่วยลักษณะนี้ในเมืองไทยหรือไม่ มากน้อยเพียงใด และคงไม่มีใครเคยถามว่าผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกในสมองได้รับยาพีพีเอหรือยาอื่นในกลุ่มนี้มาก่อนหรือไม่
น.พ. วิชัย โชควิวัฒน เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกประกาศแก้ไขทะเบียนตำรับยาทุกตำรับที่มีส่วนผสมของยาฟีนิลโปรปาโนลามีน หรือพีพีเอ (Phenylpropanolamine หรือ PPA) ซึ่งผู้รับอนุญาตจะต้องยื่นคำขอแก้ไขทะเบียนตำรับยาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 17 มิถุนายน 2544 นี้ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญบางท่านตั้งข้อสังเกตว่า พีพีเอไม่ก่อให้เกิดอันตรายในเด็กนั้น จึงขอเสนอรายงานจากวารสารการแพทย์ ชื่อ "เวชศาสตร์ฉุกเฉินของอเมริกา" (American Journal of Emergency Medicine) ปีที่ 18 ฉบับที่ 3 ประจำเดือนพฤษภาคม 2543 ซึ่งได้ตีพิมพ์รายงานเด็กทารกรายหนึ่งที่เชื่อว่าเกิดภาวะเลือดออกในสมองจากการใช้ยาแก้หวัดที่มีพีพีเอเป็นส่วนผสมเพียงครั้งเดียว โดยผู้รายงาน คือ นายแพทย์โรเบิร์ต เอส. แฮมิลตัน แห่งแผนกเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ที่โรงพยาบาลในแซนดิเอโก แคลิฟอร์เนีย รายงานว่าเด็กทารกดังกล่าว อายุ 7 สัปดาห์ เป็นเพศหญิง คู่แฝด ที่คลอดก่อนกำหนดเมื่อแม่ตั้งครรภ์ได้ 32 สัปดาห์ ป่วยเป็นไข้หวัด มีอาการคัดจมูก ไอเป็นบางครั้ง และหายใจเสียงดัง ไม่มีไข้ กุมารแพทย์ได้สั่งจ่ายยาน้ำที่มีพีพีเอ 12.5 มก.ต่อ 5 ซีซี และยาแก้แพ้ บรอมเฟนิรามีน 2 มก. ต่อ 5 ซีซี (สูตรเดียวกับที่ใช้แพร่หลายในประเทศไทย) เพียงครึ่งชั่วโมงหลังได้รับประทานยาไปครึ่งช้อนชา (2.5 ซีซี) แม่เด็กสังเกตว่าเด็กมีอาการตัวเกร็ง ไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าและเอียงศีรษะไปทางขวา โดยเอียงหน้ากลับมาไม่ได้ เด็กถูกนำส่งแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลใกล้เคียง และต่อมาได้ถูกส่งต่อไปยังแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลเด็กในพื้นที่ ในส่วนประวัติของเด็กทารกรายนี้ เป็นเด็กแฝด คลอดก่อนกำหนด หลังคลอดแพทย์ให้เด็กทั้งคู่อยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ โดยไม่ต้องใช้ท่อเพื่อช่วยในการให้นมหรือเพื่อการรักษาอื่น ๆ สำหรับแม่เด็กไม่มีประวัติใช้ยาเสพย์ติด ไม่ติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ ไม่เป็นเบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง และไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้ ซึ่งเด็กรายนี้ได้รับยาที่กล่าวแล้วเพียงครั้งเดียว โดยคู่แฝดไม่ได้รับ อย่างไรก็ตาม ได้มีการเช็คประวัติครอบครัวไม่มีใครเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคหลอดเลือดในสมองแตกหรืออุดตัน ทั้งนี้ เมื่อนำเด็กไปแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลเด็ก เด็กมีอาการหนัก หายใจ 44 ครั้งต่อนาที ชีพจร 150 ครั้งต่อนาที ความดันโลหิต 72/38 (อยู่ในภาวะช็อค) อุณหภูมิกายวัดทางทวารหนัก 36๐ ซ. ตรวจร่างกายไม่พบว่ามีการบาดเจ็บที่ศีรษะ ม่านตาวัดได้ 2 มิลลิเมตร ตอบสนองต่อแสงน้อยมาก ตาเหลือบลงต่ำและเอียงไปทางด้านขวา กระหม่อมเต็มแต่ไม่โป่ง คอไม่แข็ง ปอดและหัวใจไม่พบความผิดปกติ ตรวจกรองเรื่องสารพิษไม่พบ ได้เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมองพบเลือดออกในสมองซีกขวาส่วนสมองน้อย (cerebellum) และสมองกลางหรือแกนสมองส่วนต้น (midbrain) เข้าได้กับการเกิดการแตกของเส้นเลือดที่ผิดปกติแต่กำเนิด (ruptured arteriovenous malformation : AVM) เด็กได้รับการดูแลรักษาในโรงพยาบาล 46 วัน จึงออกจากโรงพยาบาลได้ โดยแพทย์ถอดท่อช่วยการรักษาต่างๆ ออกได้หลังอยู่ในโรงพยาบาล 37 วัน และนัดให้ไปพบกุมารแพทย์และศัลยแพทย์ระบบประสาทต่อไป ซึ่งแพทย์ให้การวินิจฉัยโรคขั้นสุดท้ายว่า น่าจะเกิดจากเส้นโลหิตที่ผิดปกติแต่กำเนิดแตกจากสาเหตุที่ความดันในสมองเพิ่มสูงขึ้นอย่างฉับพลันจากการใช้ยาพีพีเอ (The final diagnosis was probable AVM rupture caused by sudden rise in ICP secondary to PPA use.)
รายงานดังกล่าวมีการสรุปในตอนท้ายว่า อาการแทรกซ้อนที่รุนแรงทางสมองจากการใช้ยาพีพีเอเคยมีรายงานมาก่อนว่าพบในผู้ใหญ่และเด็กโต แต่จากรายงานฉบับนี้แสดงว่าเด็กทารกก็มีความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกในสมองด้วยและได้แนะนำให้แพทย์ที่ปฏิบัติงานในห้องฉุกเฉินควรเอาใจใส่สอบถามว่าผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกในสมองได้รับประทานยาพีพีเอหรือยาอื่นในกลุ่มนี้มาก่อนหรือไม่ โดยต้องสอบถามในกรณีของเด็กทารกด้วยและต้องไม่สั่งยานี้ให้แก่เด็กทารก เพราะความเสี่ยงอาจสูงกว่าประโยชน์ที่จะได้รับอย่างชัดเจน (should never prescribe this agent to infants because its risks may substantially outweigh the benefits of its use.)
ปัจจุบันไม่มีใครทราบว่า มีผู้ป่วยลักษณะนี้ในเมืองไทยหรือไม่ มากน้อยเพียงใด แต่แพทย์แทบทุกคนคงเคยพบเด็กที่มาโรงพยาบาลด้วยอาการอย่างนี้ และคงไม่มีใครเคยถามว่าเด็กได้รับยาที่มีพีพีเอมาบ้างหรือเปล่า เลขาธิการฯ กล่าวในที่สุด--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ