อย.ควบคุมการนำเข้าสารซาลบูทามอล

ข่าวทั่วไป Friday June 8, 2001 10:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--อย.
คณะกรรมการอาหารและยาวางแนวทางการนำเข้าและจำหน่ายสารซาลบูทามอล ที่เป็นตัวยาสำคัญในการผลิตยาบรรเทาโรคหอบหืด โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมการนำเข้า ป้องกันมิให้นำสารซาลบูทามอลไปใช้เร่งเนื้อแดงในสุกร เพราะก่อให้เกิดปัญหาในการส่งออกและอาจไม่ปลอดภัยในการบริโภค เนื่องจากไม่มีสารตกค้าง
นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ได้รับรายงานว่ามีการนำเภสัชเคมีภัณฑ์กลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ไปผสมอาหารเลี้ยงสุกร เพื่อเพิ่มเนื้อแดง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภคเนื้อสุกรในเรื่องสารตกค้างและเป็นปัญหาเรื้อรังมานานกว่า 10 ปี โดยวิวัฒนาการของการใช้สารในกลุ่มนี้เริ่มจากการใช้สารเคลนบูเทอรอล แต่เมื่อมีมาตรการเข้มงวด โดยกระทรวงพาณิชย์ออกประกาศควบคุมสารเคลนบูเทรรอล ให้เป็นสินค้าต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในประเทศ และจะต้องอนุญาตให้นำเข้าสารนี้เฉพาะกรณีที่มีหนังสือรับรองจาก อย. ก่อน จึงมีการเปลี่ยนไปใช้สารซาลบูทามอล ซึ่งเป็นสารในกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์เช่นเดียวกันแทน ซึ่งสามารถหาซื้อได้ง่าย เนื่องจากการนำเข้าสารซาลบูทามอลเข้ามาในไทยมีจุดประสงค์หลักเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยาแผนปัจจุบันตามที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว เช่น ยาที่ใช้บรรเทาอาการหอบหืด
แม้ว่า อย.จะออกประกาศให้ผู้รับอนุญาตนำเข้าหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักรจัดทำบัญชีการนำเข้าหรือสั่งสารซาลบูทามอล เข้ามาในราชอาณาจักรทุก 4 เดือน และรายงานให้ อย. ทราบภายใน 30 วันนับจากครบกำหนด 4 เดือน รวมทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะออกประกาศห้ามใช้สารกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ผสมในอาหารเลี้ยงสัตว์ ก็ตาม แต่ก็ไม่ทำให้ปัญหาดังกล่าวลดลงไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อการส่งออก เช่น ล่าสุดเนื้อหมูที่ส่งออกจากไทยไปยังฮ่องกงถูกตีกลับ เนื่องจากตรวจพบสารซาลบูทามอล ดังนั้น ด้วยเหตุที่สารดังกล่าวใช้ในการผลิตยา อย. จึงหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยประสานกับกระทรวงพาณิชย์ขอให้ดำเนินการควบคุมสารซาลบูทามอลในแนวทางเดียวกับสารเคลนบูเทอรอล คือ ให้เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในไทยและการจะอนุญาตให้นำสารนี้เข้าประเทศได้ต้องมีหนังสือรับรองจาก อย. ก่อน ทั้งนี้ เพื่อหวังผลช่วยประเทศชาติมิให้เกิดปัญหาในการส่งออกอีก และเพื่อให้ผู้บริโภคไม่ต้องรับสารปนเปื้อนที่เป็นตัวยาโดยไม่จำเป็น ซึ่งอาจทำให้ไม่ปลอดภัยในการบริโภคได้--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ