สนพ. เร่งปรับปรุงระเบียบรับซื้อไฟฟ้าผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมาก (VSPP)

ข่าวบันเทิง Monday September 12, 2005 14:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.ย.--สนพ.
สนพ. เร่งปรับปรุงระเบียบรับซื้อไฟฟ้าผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมาก (VSPP) เพื่อผลักดันยุทธศาสตร์พลังงานทดแทน พร้อมทุ่มงบ 650 ล้านบาทต่อปีจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ สนับสนุนพลังงานทดแทนให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ
นายเมตตา บันเทิงสุข ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานทดแทนที่รัฐให้ความสำคัญอีกด้านหนึ่งนอกจาก แก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซล ได้แก่ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ที่กำลังผลักดันให้ได้ตามเป้าหมาย 8% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมา สนพ. ได้ว่าจ้างมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ศึกษาการขยายระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมาก (VSPP) และขณะนี้ร่างรายงานการศึกษาฉบับสมบูรณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดย สนพ. จะดำเนินการเสนอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ร่างรายงานดังกล่าวมีข้อเสนอให้ขยายเพดานการรับซื้อไฟฟ้าของ VSPP จากไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ เป็นไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ พร้อมทั้งเสนอแนะให้มีเงินอุดหนุนพิเศษ ในการนำเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานที่มีแผนการอนุรักษ์พลังงานในช่วงที่ 3 (ระหว่างปี 2548-2554) จำนวนเงิน 650 ล้านบาทต่อปีมาใช้ในการสนับสนุน ขณะที่ในด้านมาตรการบังคับที่ให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RPS) สำหรับโรงไฟฟ้าใหม่หลังปี 2553 นั้น มีข้อเสนอแนะเพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น โดยอาจให้มีการแยกการกำหนดให้สร้างหรือจัดหาโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนออกจากการประมูลสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ และเก็บเงินจากหน่วยไฟฟ้าที่จำหน่ายเพื่อนำไปสนับสนุนต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแทน
นอกจากนี้ ในร่างรายงานฯ ยังเสนอให้มีการเปิดกว้างการผลิตไฟฟ้า เพิ่มการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าที่มีการใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้แก่ ระบบการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน (Cogeneration หรือ Combined Heat Power (CHP) ที่มีขนาดเล็ก รวมทั้งขยายขอบเขตให้คลอบคลุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเหลือทิ้ง (ไอน้ำที่เหลือจากกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม/เกษตรกรรม) พลังงานสูญเสีย (เช่น ความร้อนจากไอเสียรถยนต์) พลังงานที่เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิต (เช่น พลังงานจากการปรับลดความดันของก๊าซธรรมชาติ) อีกทางหนึ่ง
“การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจึงเป็นยุทธศาสตร์พัฒนาพลังงานทดแทนที่สำคัญ ด้วยเหตุผลของการเป็นพลังงานที่สามารถจัดหาได้ในประเทศ ดังนั้นเมื่อมีการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มสูงขึ้นจึงเป็นการเข้าไปทดแทนและลดการนำเข้าพลังงานของประเทศได้อีกจำนวนมาก ตลอดจนสร้างความมั่นคงให้กับประเทศในด้านพลังงาน และยังเป็นพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย” นายเมตตา กล่าว--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ