กระทรวงเกษตรฯ เผยสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยากลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เตรียมรับมือฝนภาคใต้ น้อมนำโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรรเทาปัญหาอุทกภัย

ข่าวทั่วไป Wednesday November 9, 2016 17:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ (9 พ.ย.59)สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ลดลงและกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ยังมีเขื่อนบางแห่งที่มีน้ำน้อย คือ เขื่อนบางลาง ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคอง และเขื่อนลำพระเพลิง ที่เดิมมีปริมาณน้ำน้อยนั้น ปัจจุบันเขื่อนลำตะคองมีปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 2558 จำนวน 19 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนลำพระเพลิง มีปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 2558 จำนวน 16 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำของทั้งสองเขื่อนดีขึ้นกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในเขื่อนที่มีน้ำน้อยต่อไป จากเดิมที่ให้ปฏิบัติการถึงวันที่ 15 พ.ย.59 แต่เนื่องจากสภาวะอากาศยังเอื้ออำนวย อีกทั้งปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคอง และเขื่อนลำพระเพลิง ยังน้อยกว่าปี 2558 จึงได้ให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเร่งรัดดำเนินการต่อไป ด้าน นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำทั้ง 34 เขื่อน อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก ขณะที่ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งเดิมมีน้ำล้นตลิ่งนั้น ขณะนี้น้ำได้ลดลงต่ำกว่าตลิ่งแล้วทั้ง 11 จุด ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย. 59 ส่วนสถานการณ์น้ำใน จ.เพชรบุรี ขณะนี้ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ภายหลังจากเขื่อนเพชรได้ลดการระบายน้ำลง ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย.59 เป็นต้นมา ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีต่ำกว่าตลิ่งแล้ว และสภาพน้ำท่วมในบริเวณตัวเมืองเพชรบุรี น้ำแห้งเกือบหมดแล้ว เหลือเพียงในพื้นที่ อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ที่มีน้ำท่วมขังเล็กน้อย ซึ่งคาดว่าน้ำจะลดลงภายใน 1-2 วันนี้ และไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในที่พื้นที่ดังกล่าว สำหรับในพื้นที่ภาคใต้ ปัจจุบันได้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว กรมชลประทานได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำ โดยได้ตรวจสอบความพร้อมใช้งานของระบบชลประทาน ทั้งในส่วนของอาคารชลประทาน ระบบส่งน้ำ ระบบระบายน้ำ คันกั้นน้ำ ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้เตรียมความพร้อมของเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำ ให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมได้อย่างทันท่วงที และได้ประสานงานไปยังในส่วนของจังหวัด เทศบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากพบว่ามีปัญหาหรือมีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถรองรับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ให้รีบแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมปรับปรุงให้สามารถใช้งานป้องกันอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และด้วยพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระองค์ทรงมีความห่วงใยต่อพสกนิกรชาวภาคใต้ ที่มักจะประสบกับปัญหาอุทกภัย ทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทานดำเนินโครงการป้องกันแก้ไขและบรรเทาปัญหาอุทกภัยให้ลดน้อยลง อาทิ จังหวัดชุมพร ซึ่งเมื่อครั้งอดีตเมื่อเกิดฝนตกหนักมักจะประสบกับปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เมืองชุมพรเป็นประจำแทบทุกปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยพื้นที่เมืองชุมพร(ลุ่มน้ำคลองท่าตะเภา) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรชาวเมืองชุมพร ซึ่งกรมชลประทานได้สนองพระราชดำริ ด้วยการพัฒนาโครงการต่าง ๆ มาจนถึงปัจจุบัน เช่น การขุดคลองหัววัง - พนังตัก เพื่อระบายน้ำออกสู่ทะเล และการก่อสร้างคลองสายหลักต่างๆ จนสามารถป้องกันบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำคลองท่าตะเภา ในเขตเมืองชุมพรได้เป็นที่น่าพอใจ และทรงมีพระราชดำริให้ใช้พื้นที่หนองใหญ่เป็นแก้มลิงธรรมชาติ เพื่อเป็นพื้นที่รับน้ำจากคลองท่าแซะ มาเก็บไว้ก่อนที่จะไหลลงสู่คลองท่าตะเภา และเมื่อมีปริมาณมากจึงทยอยระบายลงสู่ คลองหัววัง – พนังตัก เพื่อระบายออกสู่ทะเล ซึ่งช่วยลดปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเข้าตัวเมืองชุมพรได้เป็นอย่างมาก และยังสามารถใช้แก้มลิงหนองใหญ่เป็นพื้นที่เก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้อีกด้วย ส่วนในเขต อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งเป็นเมืองที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจขนาดใหญ่ของภาคใต้ ที่มักประสบปัญหาอุทกภัยเป็นประจำนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัย อ.หาดใหญ่ โดยกรมชลประทานได้สนองพระราชดำริ โดยการศึกษาวางแผนและดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำต่างๆ พร้อมกับการขุดลอกคลองระบายน้ำที่มีอยู่เดิมให้สามารถรองรับน้ำหลากได้มากขึ้น โดยมีคลองระบายน้ำทั้งหมด 6 คลอง ได้แก่ คลอง ร.1 ร.2 ร.3 ร.4 ร.5 และ ร.6 เป็นคลองระบายน้ำอ้อมเมือง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ทั้งนี้ กรมชลประทานได้วางแผนดำเนินโครงการขุดขยายคลอง ร.1 ระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มความสามารถในการระบายน้ำของคลอง ร. 1 ไปลงทะเลสาบสงขลา จากเดิมที่สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 465 ลบ.ม./วินาที เป็น 1,200 ลบ.ม./วินาที โดยคาดว่าจะดำเนินการขุดลอกคลองให้แล้วเสร็จและใช้งานได้ภายในปี 2562

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ