จาตุรนต์ นำทีมประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 19 ณ กรุงบันดาร์ เสรี เบกาวาน ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม

ข่าวทั่วไป Friday June 29, 2001 15:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--ศูนย์ประชาสัมพันธ์รวมพลังหาร 2
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายจาตุรนต์ ฉายแสง) ซึ่งกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ในฐานะรัฐมนตรีพลังงานของประเทศไทย เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยนำผู้แทนจาก 5 หน่วยงานหลักอันประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงการต่างประเทศ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เดินทางไปร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 19 ณ กรุงบันดาร์ เสรี เบกาวาน ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2544 โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
1. ผลการศึกษาการจัดทำแผนแม่บทการเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grids: APG) ของคณะทำงานเพื่อศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Interconnection Master Plan Study Working Group: AIMS-WG) ของคณะผู้ว่าการการไฟฟ้าอาเซียน (Heads of Power Utilities/ Authorities: HAPUA) ซึ่งมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นประธานคณะทำงาน โดยที่ประชุมได้เห็นชอบความก้าวหน้าของการจัดทำแผนแม่บทที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง คาดว่ารายงานฉบับสมบูรณ์จะแล้วเสร็จในราวเดือนกรกฎาคม 2545 เพื่อนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาขอความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานในการประชุมครั้งหน้า ณ ประเทศอินโดนีเซีย
2. ผลการศึกษาการเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซธรรมชาติอาเซียน (Trans-ASEAN Gas Pipeline: TAGP) ซึ่งจัดทำโดยคณะทำงาน TAGP Task Force ซึ่งจากผลการศึกษาทางเทคนิคพบว่ามีแนวทางการเชื่อมต่อท่อเพื่อขนส่งก๊าซระหว่างประเทศภายในอาเซียนทั้งหมด 7 แนวทาง รวมเป็นระยะทาง 4,200 กม. คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 7 ล้านล้าน เหรียญสหรัฐฯ
นอกจากนี้ เพื่อให้การจัดทำแผนการดำเนินงานเป็นไปอย่างผสมผสาน (Synergistic Planning) ระหว่างการเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้าอาเซียน และการเชื่อมโยงท่อก๊าซธรรมชาติอาเซียน ตามที่รัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานได้ให้แนวทางไว้ คณะทำงานทั้งสองคณะคือ AIMS-WG และ TAGP Task Force ได้มีการประชุมร่วมกันเมื่อเดือน พฤษภาคม 2544 ณ ประเทศอินโดนีเซีย และร่วมกันหาข้อสรุปในประเด็นสำคัญ เพื่อให้โครงการทั้งสองดำเนินไปอย่างสอดคล้องและสนับสนุนกันและกัน ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมากในด้านความมั่นคงในการจัดหาพลังงานในระยะยาวของประเทศ และถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ประเทศไทยจึงให้การสนับสนุนในโครงการนี้มาตลอดอย่างต่อเนื่อง
3. การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency and Conservation) ประเทศไทยยังประสบผลสำเร็จในการเร่งส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในการประกวดการอนุรักษ์พลังงานดีเด่นของอาเซียน "ASEAN Energy Award on Energy Efficiency Best Practices in Building" ที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่สอง ในปีนี้ศูนย์การค้า Mike Shopping Mall เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทอาคารที่มีการปรับปรุงด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Retrofitted Building) ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจของไทยที่มีผลงานด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็นที่ประจักษ์ชัดในอาเซียน และนับเป็นปีที่สองที่เราได้รับรางวัลนี้ติดต่อกัน โดยในปีที่แล้วตึกสำนักงานใหญ่ของบริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (EGCO) ได้รับรางวัลรองชนะเลิศในการประกวดครั้งแรก
4. การพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน (Sustainable Energy Development) ได้เน้นถึงความสำคัญในการพัฒนาพลังงานที่มุ่งเน้นในสามด้านหลักคือ ด้านความมั่นคงด้านพลังงาน การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการผลิตและใช้พลังงาน และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในโอกาสนี้ได้ใช้ตัวอย่างนโยบายด้านพลังงานของประเทศไทยแสดงให้ประเทศสมาชิกอาเซียนได้เห็นว่าประเทศไทยมีความมุ่งมั่นในการดำเนินตามแนวทางการพัฒนาด้านพลังงานอย่างยั่งยืน โดยการผสมผสานทั้งนโยบายเชิงรุกและรับ จนประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ในภูมิภาคนี้
ศูนย์ประชาสัมพันธ์รวมพลังหาร 2
โทรศัพท์ 612-1555 ต่อ 201-5 โทรสาร 612-1368
121/1-2 ถ.เพชรบุรี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 www.nepo.go.th-- จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ