การประชุมวิชาการนวัตกรรมเพื่อสุขภาวะชุมชน (Innovation for Community Well-Being) ครั้งแรกของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

ข่าวทั่วไป Friday November 25, 2016 13:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 พ.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รศ.ดร.สุวิทย์ เตีย รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า งานพัฒนาชุมชนและสังคมนั้นถือเป็นนโยบายสำคัญของ มจธ. บุคลากรทุกฝ่าย อาจารย์และนักศึกษาได้ร่วมแรงใจทำกิจกรรมเพื่อชุมชนและสังคมมาอย่างต่อเนื่องโดยบูรณาการเข้ากับการเรียนการสอนและวิจัย ในฐานะมหาวิทยาลัยที่สร้างสมประสบการณ์ความรู้ในการทำงานที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาอาชีพ คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม มานานกว่า 30 ปี ช่วยให้ชุมชนได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นที่เรียกว่า "สุขภาวะ"(Community Well-Being) ซึ่งเรื่องสุขภาวะนั้นเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย ทั้งสาธารณสุข การศึกษา อาหาร พลังงาน ฯลฯ แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีเวทีที่จัดขึ้นสำหรับกลุ่มคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสุขภาวะชุมชนทั้งหมดได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มจธ.จึงมีแนวคิดจัดการประชุมวิชาการนวัตกรรมเพื่อสุขภาวะชุมชน (Innovation for Community Well-Being) ขึ้นในระหว่างวันที่ 15 - 16 ธันวาคม 2559 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อาคาร เคเอกซ์ ถนนกรุงธนบุรี กรุงเทพฯ ซึ่งจะเป็นเวทีนำร่องเพื่อให้คนที่ทำงานด้านนี้ได้มารู้จักกัน นำประสบการณ์และงานวิจัยมาพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ได้มุมมองใหม่ๆ ได้เห็นผลงานของแต่ละกลุ่ม สามารถนำความรู้ที่ได้จากงานไปประยุกต์กับงานของแต่ละคนที่ทำอยู่ และหวังให้เกิดการขยายผลนำไปสู่การสร้างเครือข่ายของกลุ่มคนทำงานด้านสุขภาวะชุมชนในที่สุด โดยตั้งเป้าให้มีการจัดการประชุมฯ ในลักษณะนี้ทุก 2 ปี เพื่อสร้างเครือข่ายการทำงานและพัฒนาให้ชุมชนมีสุขภาวะที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้เข้าร่วมงานนั้น นอกจากนักวิชาการและนักวิจัยแล้ว ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เข้ามาเรียนรู้งานพัฒนาชุมชนและสังคม และสามารถนำความรู้เข้าไปช่วยชุมชนและสังคมได้หลากหลายรูปแบบ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ จะมีผู้นำจากชุมชนในพื้นที่ห่างไกลจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทยเข้ามาร่วมงานในครั้งนี้ด้วย เพื่อมาถ่ายทอดประสบการณ์ มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และคิดเห็นกันระหว่างกลุ่มคนทำงานกับชุมชน ซึ่งผู้เข้าร่วมงานก็จะได้เรียนรู้วิธีการและนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ตามบริบทของแต่ละชุมชนโดยเฉพาะการเรียนรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการบูรณาการการเรียนการสอนและวิจัยเพื่อประยุกต์ใช้กับโจทย์หรือแก้ปัญหาจริงในด้านต่างๆ ของชุมชน รศ.ดร.สุวิทย์ กล่าวอีกว่า การจัดประชุมวิชาการนวัตกรรมเพื่อสุขภาวะชุมชนซึ่งเป็นการจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ของมจธ. ทางมหาวิทยาลัยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "Longevity economy กับภาคชนบท" นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมงานยังจะได้รับฟังประสบการณ์ตรงจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่เกี่ยวข้อง อาทิ รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ที่จะมาเล่าถึงการทำงานพัฒนาการเรียนรู้ให้ชุมชน, รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ บรรยายในด้านการศึกษาเรื่อง "STEM ทำได้ กินได้ ใช้จริงในชีวิต", รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มอ. มาเล่าถึงประสบการณ์การทำงานกับชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ อดีตรองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) นอกจากนี้ยังมีพระอาจารย์สมคิด จรณธมโม วัดโป่งคำ จากจังหวัดน่าน ในฐานะผู้นำชุมชนที่พยายามให้ความรู้กับคนในหมู่บ้านเพื่อรักษาป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ จะมาร่วมอภิปรายด้านอาชีพเรื่อง "การทำมาหากินของคนยากไร้" และการบรรยายด้านสุขภาพ สาธารณสุข และความมั่นคงด้านอาหาร เรื่อง "ยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ในการจัดการระบบสาธารณสุขและความมั่นคงด้านอาหารสำหรับกลุ่มคนชายขอบ" โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ เป็นต้น ทั้งนี้นอกจากจะได้รับฟังประสบการณ์และการบรรยายจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว ยังมีการจัดประชุมกลุ่มย่อยอีกหลายหัวข้อ รวมถึงการแสดงผลงานวิชาการและงานวิจัยที่มีผู้นำผลงานเข้าร่วม แบ่งเป็นการนำเสนอในรูปแบบการบรรยายจำนวน 35 ผลงาน และการนำเสนอในรูปแบบโปสเตอร์ จำนวน 23 ผลงาน สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมงานประชุมวิชาการนวัตกรรมเพื่อสุขภาวะชุมชน (Innovation for Community Well-Being) ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 ธันวาคม 2559 นี้ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมการประชุมได้ที่เว็บไซต์ www.wellbeing.kmutt.ac.th/register ค่าใช้จ่ายท่านละ 2,500บาท เฉพาะผู้ที่แจ้งลงทะเบียนไว้ก่อนวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 คิดค่าใช้จ่ายเพียงท่านละ2,000 บาท โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะนำเงินเข้าสมทบกองทุน "เพื่อการศึกษา เรียนรู้ และสร้างอาชีพ" เพื่อเป็นทุนศึกษาให้กับเด็กเยาวชนที่ด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดารและในพื้นที่ห่างไกล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ