ส.ส.สากล ม่วงศิริ ยื่นหนังสือคัดค้านให้สภากทม. ระงับออกข้อบัญญัติฯ กำหนดห้ามก่อสร้าง ดัดแปลงอาคาร ชายทะเลบางขุนเทียน

ข่าวทั่วไป Friday May 11, 2001 14:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--กทม.
ที่สภากรุงเทพมหานคร เมื่อวานนี้ (10 พ.ค.44) เวลา 13.30 น. นายอภิชาติ หาลำเจียก รองประธานสภากรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายสมชาย เอี่ยมมงคลสกุล ส.ก.เขตธนบุรี และนายชาติกล้า ประกอบผล ส.ก.เขตบางกอกน้อย ได้ร่วมรับมอบหนังสือซึ่งลงนามโดยนายสากล ม่วงศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร ขอให้สภากทม.พิจารณาระงับการออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิด หรือบางประเภทในท้องที่บางส่วนในแขวงแสมดำ แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน และแขวงทุ่งครุ เขตทุ่งครุ โดยมีผู้ช่วย ส.ส., ประธานสภาเขตบางขุนเทียน และตัวแทนกำนัน — ผู้ใหญ่บ้าน เขตบางขุนเทียน เป็นผู้มอบหนังสือดังกล่าว
ทั้งนี้ร่างข้อบัญญัติดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบในหลักการจากสภากทม.แล้ว และกำลังจะพิจารณาในวาระ 2-3 ในวันจันทร์ที่ 14 พ.ค.44 นี้ ก่อนประกาศใช้เป็นข้อบัญญัติต่อไป อย่างไรก็ตาม ทาง ส.ส. และตัวแทนประชาชนบางส่วนไม่เห็นด้วยในรายละเอียดของข้อบัญญัติดังกล่าว จึงขอให้ระงับการออกข้อบัญญัติฯ โดยให้เหตุผลว่า ร่างข้อบัญญัติฯ ที่เสนอมานั้น ประชาชนในพื้นที่ยังไม่ทราบข้อมูล และยังไม่มีการทำประชาพิจารณ์สำรวจความคิดเห็นจากประชาชนผู้อาจได้รับผลกระทบ อีกทั้งการกำหนดแนวร่นตามข้อบัญญัติฯ 100 เมตร เป็นระยะที่มากเกินไป ทำให้ประชาชนผู้อยู่อาศัย โดยเฉพาะบ้านที่มีที่ดินน้อยอยู่แล้วได้รับความเดือดร้อนมาก โดยเห็นว่าระยะที่เหมาะสมควรเป็นระยะ 20 เมตร ในการนี้รองประธานสภากทม.ได้ขอให้คณะผู้คัดค้านทำหนังสือถึงประธานสภา กทม.อีกครั้ง เพื่อนำข้อสรุปมติของตัวแทนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบในเขตบางขุนเทียน ว่ามีความต้องการอย่างไร เพื่อเสนอให้ที่ประชุมสภากทม.พิจารณาในวันจันทร์ที่ 14 พ.ค.44 โดยเปิดโอกาสให้ตัวแทน ส.ส. , ส.ข., กำนัน — ผู้ใหญ่บ้าน เขตบางขุนเทียนเข้าร่วมรับฟังในการประชุมสภากทม.ด้วย
สำหรับร่างข้อบัญญัติดังกล่าวเสนอขึ้นโดยกรุงเทพมหานคร สืบเนื่องจากได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดบริเวณก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภทในบริเวณดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในด้านการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ป่าชายเลน ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในกทม. อีกทั้งเป็นการอนุรักษ์ผังเมืองและควบคุมความหนาแน่นอาคาร อย่างไรก็ดี ประกาศกระทรวงฯ มีผลบังคับใช้ภายใน 1 ปีนับจากวันประกาศ 15 มิ.ย.43 ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าชายเลนที่ทรงคุณค่าของไทยให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลมีผลบังคับใช้ต่อเนื่อง และการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่รัฐและชุมชนท้องถิ่นต้องร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรให้มีผลในทางปฏิบัติ จึงมีการร่างข้อบัญญัติฯ ดังกล่าวขึ้น โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งการร่างข้อบัญญัติฯ ดังกล่าว กทม.ได้คำนึงถึงคุณค่าความเป็นธรรมชาติในพื้นที่ 2,650 ไร่ บริเวณชายทะเลบางขุนเทียนที่ถูกน้ำกัดเซาะ ประกอบกับขณะนี้มีการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งร้านอาหารที่ก่อสร้างผิดกฎหมายควบคุมอาคารฯและปิดกั้นทางระบายน้ำ กทม.จึงมีมาตรการที่จะฟื้นฟูอนุรักษ์ธรรมชาติ ทั้ง 2 สองฝั่งคลอง
อนึ่ง รายละเอียดของร่างบัญญัติฯ ได้กำหนดให้บังคับใช้ในพื้นที่ 4 บริเวณ ดังนี้ 1. พื้นที่ภายในระยะ 15 เมตร จากเขตถนนสองฟากของถนนบางขุนเทียน —ชายทะเล ตั้งแต่ถนนพระราม 2 ไปทางทิศใต้ จดคลองสนามชัย 2. พื้นที่ภายในระยะ 100 เมตร จากเขตถนนทั้งสองฟากของถนนบางขุนเทียน — ชายทะเล ตั้งแต่คลองสนามชัย ไปทางทิศใต้จดคลองพิทยาลงกรณ์ 3. พื้นที่ภายในบริเวณระหว่างทิศเหนือจดคลองเชิงตาแพและคลองลูกวัว ทิศตะวันออก , ตะวันตก, และทิศใต้ จดแนวเขตกทม. (ไม่รวมพื้นที่ 2 และ 4) 4. พื้นที่ภายในระยะ 100 เมตร ตามแนวขนานริมสองฝั่งคลองทั้ง 33 คลอง ภายในกทม.--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ