สพช.แนะวิธีการประหยัดพลังงานในการเดินทาง

ข่าวทั่วไป Monday August 21, 2000 11:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--สพช.
ประเทศไทยไช้น้ำมันในภาคการขนส่งสูงมากโดยเฉลี่ยในระหว่าง พ.ศ. 2535 - 2539 ถึงร้อยละ 57.4 - 59.5 ต่อปี เมื่อเทียบกับปริมาณการใช้น้ำมันสำเร็จรูปทั่วประเทศ ดังนั้นหาก เรารู้จักวิธีประหยัดพลังงานในการเดินทางแล้ว จะสามารถช่วยลดปริมาณการนำเข้า น้ำมันดิน และน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศ ได้เนื่องจากการ เดินทาง ในชีวิต ประจำวันของเราต้อง ใข้น้ำมันสำเร็จรูปเป็นเชื้อเพลิงหลัก ซึ่งได้แก่ น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล หรือ น้ำมันเครื่องบิน เป็นต้น
แม้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ได้มีการพัฒนาก้าวหน้าไปมากทำให้เครื่องยนต์ ลดการใช้เชื้อเพลิงมากขึ้น แต่ก็ยังมีอีกหลายปัจจัยหลายวิธีและเทคนิคต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ ประหยัดพลังงานในการเดินทางได้มากกว่าเดิม
เราจะมีวิธีการประหยัดพลังงานในการเดินทางได้อย่างไร
1. ใกล้ ๆ .....ไม่ไกลจนเกินไป.....ควรเดินไป.....ไม่ใช้รถ..... หรือจะใช้ รถจักรยานแทนก็ได้ เป็นการออกกำลังกายไปในตัว
2. ควรวางแผนเส้นทางก่อนเดินทางเพื่อเลือกทางที่ใกล้ที่สุด หรือใช้เวลาน้อย ที่สุด ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานหรือลดความสิ้นเปลืองของน้ำมันเชื้อเพลิง ต่อวันลงได้ รวมทั้งลดเวลาในการเดินทาง
3. หากที่พักของเราใกล้กับที่ทำงานในระยะทางที่สามารถใช้รถโดยสารประจำทาง ได้สะดวกก็ควรหันมาใช้รถประจำทางให้มากขึ้น
4. ถ้าเดินทางจากที่พักถึงที่ทำงานเป็นระยะทางไกล ๆ ทุกวันควรจะรู้เส้นทางลัด หรือเส้นทางที่มีสัญญาณไฟจราจรหรือมีทางแยกน้อยที่สุด
5. หลีกเลี่ยงเวลาเดินทางไป - กลับระหว่างที่พักกับที่ทำงานในช่วงเวลาที่มีการ จราจรติดขัด
6. เมื่อต้องเดินทางระยะไกล เช่น ไปต่างจังหวัด หากไม่จำเป็นต้องใช้รถยนต์ ส่วนบุคคลแล้วควรหันมาใช้รถโดยสารประจำทาง หรือรถไฟ
7. หมั่นตรวจสอบสภาพรถตลอดเวลาและก่อนการเดินทางไกล
การตรวจสอบเครื่องยนต์หรือสภาพรถก่อนการเดินทาง
ควรตรวจสอบเครื่องยนต์สม่ำเสมอตามระยะเวลาที่กำหนด เพราะจะทำให้เรารู้สมรรถนะของเครื่องยนต์และอัตราการสิ้นเปลือง น้ำมันเชื้อเพลิงตลอเวลา และเพิ่มความปลอดภัย ซึ่งระบบที่ควรตรวจสอบมีดังนี้
1. ระบบน้ำมันเชื้อเพลิง
จากระบบน้ำมันเชื้อเพลิง เราสามารถสังเกตและตรวจสอบสาเหตุของการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เพิ่มขึ้นกว่าปกติอย่างง่าย ๆ ดังนี้
- น้ำมันรั่วหรือไม่ ให้สังเกตจากบริเวณพื้นถนนใต้รถที่จอดอยู่ หากพบว่ามีรอยเปียกของน้ำมันหรือได้กลิ่นน้ำมัน ซึ่งอาจจะรั่วจากข้อต่อในระบบท่อ ให้ดำเนินการซ่อมโดยเร็ว
- ไส้กรองอากาศตันหรือไม่ ควรทำความสะอาดไส้กรองอากาศอย่างสม่ำเสมอหรือเปลี่ยนใหม่เมื่อหมดอายุการใช้งาน ไส้กรองอากาศที่สกปรกทำให้สิ้นเปลืองน้ำมันมาก
2. ตรวจความเร็วรอบเดินเบา
ถ้าความเร็วรอบของเครื่องยนต์ในจังหวะเดินเบาสูงเกินไปจะทำให้เครื่องยนต์กินน้ำมันมากขึ้น ควรปรับความเร็วรอบ ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของผู้ผลิต แต่ถ้าไม่มีข้อมูลดังกล่าวควรปรับความเร็วรอบที่ประมาณ 800 รอบต่อนาที หรือใน ระดับที่เครื่องยนต์ทำงานเรียบที่สุด สำหรับเครื่องยนต์ที่มีระบบการจ่ายน้ำมันด้วยระบบหัวฉีด หากมีปัญหาเกี่ยวกับ ความเร็วรอบของเครื่องยนต์ขณะเดินเบาควรปรึกษาเจ้าหน้าที่ของบริษัทผู้ผลิตให้เป็นผู้ดูแลในเรื่องนี้โดยตรง
3. ตรวจระดับน้ำมันในห้องลูกลอย
ในระบบน้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ที่ใช้คาร์บูเรเตอร์ ทำหน้าที่ปรับส่วนผสมน้ำมันกับอากาศนั้น สาเหตุที่จะทำให้อัตรา การสิ้นเปลืองน้ำมันเพิ่มขึ้นจากปกติอีกประการหนึ่ง คือการไหลล้นของน้ำมันคาร์บูเรเตอร์ ซึ่งเกิดจากระดับน้ำมันในห้องลูก ลอยสูงกว่าระดับปกติโดยสามารถสังเกตได้ง่าย ๆ จากหน้าต่างกระจกของห้องลูกลอยควรให้ช่างผู้ชำนาญแก้ไขโดยเร็วนอกจากข้อสังเกตต่าง ๆ ในระบบน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ปัญหาด้านอื่นที่เรายังสามารถผสมน้ำมันกับอากาศ ถ้าระบบจุดระเบิดส่วนผสมของเชื้อเพลิงและอากาศเร็วเกินไปจะทำให้เกิดอาการเครื่องยนต์น๊อค แต่ถ้าระบบจุดระเบิด ช้าเกินไป จะทำให้กำลังงานที่ได้ลดลง และมีผลให้กินน้ำมันมากขึ้นด้วย หากรถยนต์มีอาการดังกล่าวควรรีบแก้ไขโดยเร็ว
การเตรียมพร้อมก่อนการเดินทาง
การมีข้อมูลที่พร้อมสำหรับการเดินทางเป็นวิธีหนื่งที่ช่วยลดการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงได้เป็นอย่างมาก และเป็นการเพิ่มความปลอดภัย
1. เตรียมหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อของจุดหมายหบายทางหรือสถานีตำรวจในเส้นทางที่ผ่าน กรณีฉุกเฉินหรือหลงทาง
2. เตรียมแผนที่เส้นทาง เพื่อป้องกันการหลงทางและสิ้นเปลืองน้ำมัน
3. ตรวจสอบเส้นทางและเลือกเส้นทางลัด หรือ เส้นทางที่เหมาะสม แต่ถ้าหากเส้นทางลัดมีผิวถนนไม่เรียบ การขับรถบนผิวถนนเรียบจะประหยัดน้ำมันกว่า
4. ตรวจสอบระดับน้ำในแบตเตอรี่ให้อยู่ในระดับที่กำหนดและมีน้ำกลั่นสำรองประจำรถ
5. ตรวจสอบระดับน้ำมันเครื่องให้อยู่ในระดับที่กำหนด หากปล่อยให้น้ำมันเครื่องแห้งหรือระดับต่ำกว่าขีดกำหนด เครื่องยนต์จะเสียหายมากค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงแก้ไขจะสูงมาก
6. ตรวจสอบไฟฉายประจำรถ ยังใช้งานได้ดีหรือไม่ ถ่านแบตเตอรี่หมดอายุหรือไม่
7. ควรมีอุปกรณ์สำรองไว้เผื่อกรณีฉุกเฉินประจำรถ เช่น แผ่นสะท้อนแสงแจ้งเหตุฉุกเฉินกรณีต้องจอดข้างทางไฟฉาย แบบกระพริบ
8. อุปกรณ์สำหรับเปลี่ยนยางรถยนต์ ควรอยู่ท้ายรถเสมอ
9. ตรวจสอบไฟหน้า ไฟเลี้ยว ไฟเบรก ที่ปัดน้ำฝน กระจกหน้า กระจกข้างว่ายังทำงานปกติหรือมไม่
10. ตรวจสอบหน้ายางรถยนต์ว่ามีเศษแก้ว เศษหินเกาะอยู่หรือไม่และควรเขี่ยออกถ้าเป็นตะปูฝังอยู่ต้องถอนและซ่อมรูที่รั่ว
11. ตรวจสอบระดับน้ำในหม้อน้ำ อย่าให้ต่ำกว่าขีดต่ำสุดที่กำหนด หรือปล่อยให้แห้งเพราะจะเกิดอันตรายและอาจจะต้องเปลี่ยนหม้อน้ำตัวใหม่ ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
12. ผู้ขับควรมีการพักผ่อนอย่างเพียงพอก่อนขับรถเดินทางไกล และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใด ๆ ก่อนเดินทาง
จากเอกสารเผยแพร่ ชุด สาระน่ารู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน เขียนโดยคุณอธิคม นิลอุบล กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ขอรับข้อมูลเพิ่มเติมที่ : ศูนย์ประชาสัมพันธ์ "รวมพลังหาร 2" สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เลขที่ 394/1 ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร : 628-7745-53, 280-0951-7 ต่อ 142, 144--จบ--
-นศ-

แท็ก การนำเข้า  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ