ปภ.รายงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้คลี่คลายแล้ว 7 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ใน 5 จังหวัด พร้อมประสานจังหวัดบูรณาการหน่วยงานเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ข่าวทั่วไป Wednesday December 14, 2016 17:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ธ.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่วันที่ 1 – 8 ธันวาคม 2559 เกิดสถานการณ์อุทกภัย 12 จังหวัด ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 7 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ยะลา นราธิวาส ระนอง ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร ยังคงมีสถานการณ์ใน 5 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา และพัทลุง พร้อมประสานจังหวัดบูรณาการหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมสรรพกำลังและทรัพยากรปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเร่งระบายน้ำท่วมขังลงสู่ทะเลและพื้นที่รองรับน้ำ ตลอดจนสำรวจและจัดทำบัญชีผู้ประสบภัย และทรัพย์สินที่เสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ โดยด่วนต่อไป นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันใน 12 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง และประจวบคีรีขันธ์ รวม 96 อำเภอ 648 ตำบล 4,783 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 253,260 ครัวเรือน 750,281 คน ผู้เสียชีวิต 22 ราย ถนนเสียหาย 1,565 สาย คอสะพาน 129 แห่ง ท่อระบายน้ำ 65 แห่ง ฝาย 59 แห่ง ปัจจุบันสถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว 7 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ยะลา นราธิวาส ระนอง ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพรยังคงมีสถานการณ์ใน 5 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา และพัทลุง รวม 69 อำเภอ 453 ตำบล 3,545 หมู่บ้านโดยจังหวัด สุราษฎร์ธานี น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 17 อำเภอ 111 ตำบล 792 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 34,937 ครัวเรือน 118,488 คน ผู้เสียชีวิต 4 ราย ยังคงต้องเฝ้าระวังพื้นที่รับน้ำใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพุนพิน อำเภอพระแสง และอำเภอเคียนซา นครศรีธรรมราช น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 23 อำเภอ 163 ตำบล 1,438 หมู่บ้าน 97 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 108,695 ครัวเรือน 301,557 คน ผู้เสียชีวิต 8 ราย ถนนเสียหาย 678 สาย ยังคงต้องเฝ้าระวังพื้นที่รับน้ำใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปากพนัง อำเภอท่าศาลา และอำเภอหัวไทร ตรัง น้ำท่วมขังในพื้นที่ 8 อำเภอ 54 ตำบล 8 เทศบาล 391 หมู่บ้าน 10 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 13,093 ครัวเรือน 40,680 คน ยังคงต้องเฝ้าระวังพื้นที่รับน้ำใน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองตรัง และอำเภอกันตัง สงขลา น้ำท่วมขังในพื้นที่ 10 อำเภอ 63 ตำบล 352 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 24,246 ครัวเรือน 81,319 คน อพยพประชาชน 232 ครัวเรือน 455 คน ผู้เสียชีวิต 2 ราย ผู้บาดเจ็บ 1 ราย ถนนเสียหาย 369 สาย ปัจจุบันยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ริมทะเลสาบสงขลา 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอระโนด อำเภอสิงหนคร อำเภอกระแสสินธุ์ และอำเภอสทิงพระ พัทลุง น้ำท่วมขังในพื้นที่ 11 อำเภอ 62 ตำบล 572 หมู่บ้าน 45 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 31,126 ครัวเรือน 85,393 คน อพยพประชาชน 26 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 2 ราย ปัจจุบันยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ริมทะเลสาบสงขลา 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพัทลุง อำเภอควนขนุน อำเภอบางแก้ว อำเภอปากพะยูน และอำเภอเขาชัยสน ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ร่วมกับหน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนแล้ว โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำระบายน้ำลงสู่ทะเลและแหล่งน้ำสาธารณะ รวมถึงแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น อีกทั้งจัดเจ้าหน้าที่พร้อมรถบรรทุกขนาดใหญ่ เรือท้องแบนอำนวยความสะดวกในการสัญจรและขนย้ายสิ่งของแก่ประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจและจัดทำบัญชีผู้ประสบภัย และทรัพย์สินที่เสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ โดยด่วนต่อไป อย่างไรก็ตาม จากการติดตามคาดการณ์สภาพอากาศในพื้นที่ภาคใต้กับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตก และปริมาณฝนลดลงกว่าช่วงที่ผ่านมา ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรง คลื่นสูง 2 เมตร ปภ. จึงได้ประสานจังหวัดจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ภัย ติดตามสภาพอากาศ และพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว และวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำจุดเสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ที่สายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ