Sleep Lab ตรวจการนอนหลับ...สำหรับคนนอนกรน

ข่าวทั่วไป Thursday December 15, 2016 17:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ธ.ค.--โรงพยาบาลยันฮี ใครที่คิดว่านอนกรนเป็นเรื่องธรรมชาติ อย่างมากก็แค่สร้างความรำคาญให้คนที่นอนอยู่ข้างๆ บอกเลยว่าเข้าใจผิดแล้วค่ะ ทางการแพทย์พบว่า การนอนกรนที่มี "ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea; OSA)" ร่วมด้วย โดยมีวงจรการเกิดซ้ำๆ กันหลายครั้งใน 1 คืน และเกิดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลเสียร้ายแรงต่อสุขภาพได้ เช่น เกิดภาวะความดันโลหิตสูง, สมองขาดออกซิเจน, ความดันเลือดในปอดสูง, หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น คนที่นอนกรนแล้วสงสัยว่าตัวเองอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับดังกล่าว ให้ลองสังเกตตัวเองว่าในตอนกลางคืนมีอาการสะดุ้งลุกขึ้นมานั่งหายใจเฮือกเหมือนคนขาดอากาศหรือไม่ หรือในตอนกลางวันมีอาการง่วงนอนมากผิดปกติทั้งที่นอนหลับมาเต็มอิ่มหรือไม่ หรืออาจเป็นคนที่นอนกรนเสียงดังผิดปกติ หากมีอาการในลักษณะที่ว่ามานี้ก็อย่านิ่งนอนใจ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและประเมินระดับความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น แล้วแพทย์จะตรวจประเมินภาวะดังกล่าวได้อย่างไร? ทำได้โดยการตรวจสุขภาพการนอนหลับ ที่เรียกว่า Sleep Lab นั่นเองค่ะ การตรวจ Sleep Lab จะทำให้แพทย์ทราบถึงความผิดปกติของระบบต่างๆ ของร่างกายขณะนอนหลับ เช่น ระบบการหายใจ ระดับออกซิเจนในเลือด การทำงานของคลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้าหัวใจและกล้ามเนื้อ เป็นต้น เมื่อประเมินระดับความรุนแรงได้แล้ว ก็จะสามารถวางแผนและเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละคนได้ ในการตรวจ Sleep Lab ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องนอนค้างคืนในโรงพยาบาล 1 คืน โดยแพทย์จะติดอุปกรณ์ตรวจวัดเอาไว้ขณะนอนหลับ ไม่มีความเจ็บปวดใดๆ ผู้เข้ารับการตรวจไม่ต้องกังวลใจ ให้นอนในท่าที่สบายและเคยชินที่สุด ซึ่งในวันที่เข้ารับการตรวจควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ ชา เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม หรือการออกกำลังกายอย่างหนัก เพื่อให้สามารถนอนหลับได้ตามปกติ และได้ผลการตรวจวัดใกล้เคียงความจริงมากที่สุดค่ะ ด้วยความปรารถนาดี ศูนย์เปลี่ยนเสียง รพ.ยันฮี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ