กระทรวงดิจิทัลฯ ย้ำ ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่ เน้นคุ้มครองสิทธิของประชาชนอย่างแท้จริง

ข่าวเทคโนโลยี Friday December 16, 2016 10:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--ฟร้อนท์เพจ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้แจง ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่ ปรับปรุงให้ทันสมัยก้าวทันเทคโนโลยี ไม่ริดรอนสิทธิของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต เน้นการคุ้มครองสิทธิของประชาชน โดยเฉพาะคนที่เคารพสิทธิของคนอื่น ป้องกันการรบกวนระบบ ส่วนการใช้อำนาจในการระงับหรือลบข้อมูลยังต้องผ่านดุลยพินิจของศาลเหมือนกฎหมายฉบับเดิมเป็นไปตามหลักสากล ย้ำไม่มีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับซิงเกิลเกตเวย์แต่อย่างใด นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า "จากกรณีที่เครือข่ายพลเมืองเน็ตได้ทำการล่ารายชื่อผ่านเว็บไซต์ change.org เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่จะเข้าสู่การพิจารณาวาระ 3 ของที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้น กระทรวงดีอี ขอชี้แจงเจตนารมณ์ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ปี 2550 โดยได้มีการปรับปรุงให้ทันสมัย เหมาะสม กับเวลาและเทคโนโลยี และไม่ได้ริดรอนสิทธิของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต แต่เน้นการคุ้มครองสิทธิของประชาชน โดยเฉพาะ คนที่เคารพสิทธิของคนอื่น และมีการใช้สิทธิไม่เกินขอบเขตหรือไปทำให้ผู้อื่นเสียหาย เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมความสงบเรียบร้อยในโลกไซเบอร์ให้เกิดความพอดี และเป็นการรักษาสมดุลระหว่างสิทธิและเสรีภาพของประชาชนกับความมั่นคงของประเทศหรือประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ ซึ่ง ร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้จะมีผลกระทบต่อคนที่กระทำความผิดตามกฎหมายเท่านั้น โดยเฉพาะมาตรา 14 (1) ที่ไม่ได้มุ่งใช้กับความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่จะใช้กับการหลอกลวง ฉ้อโกง การปลอมแปลงทางคอมพิวเตอร์ และมาตรา 14 (2) ที่มุ่งคุ้มครองระบบความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ การบริการสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่สำคัญกฎหมายฉบับนี้จะช่วยป้องกันการรบกวนระบบและข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นระบบหรือข้อมูลส่วนบุคคลหรือของสาธารณะ ซึ่งหากเป็นการกระทำหรือรบกวนต่อระบบหรือข้อมูลสาธารณะ จะมีโทษหนักกว่ากฎหมายฉบับเดิม ส่วนการใช้อำนาจในการระงับหรือลบข้อมูลยังต้องผ่านดุลยพินิจของศาลตามกระบวนการของกฎหมายฉบับเดิม ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล "สำหรับประเด็นที่มีข้อห่วงใยว่าจะมีการใช้อำนาจรัฐไปกระทบสิทธิของประชาชนนั้น ทาง สนช. ได้ปรับแก้ในหลายมาตราที่สำคัญ เช่น ม.14 (1) พูดชัดเจนว่า ไม่ให้ความผิดฐานป้อนข้อมูลอันเป็นเท็จ ที่มีเจตนาเอาผิดกับการหลอกลวง ฉ้อโกงทางออนไลน์นั้น ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ได้อีก กล่าวคือ ไม่ให้นำไปใช้กับเรื่องหมิ่นประมาททางอินเทอร์เน็ต นอกจากนั้นในชั้นกรรมาธิการฯ ก็ยังได้ตั้งข้อสังเกตอีกหลายเรื่อง ซึ่งมีความสำคัญมากต่อการบังคับใช้กฎหมายในอนาคต และฝ่ายบังคับใช้กฎหมายต้องนำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้ ที่ผ่านมาอาจกระทบกับผู้แสดงความคิดเห็นโดยสุจริต และภาคประชาสังคมที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ดังนั้น แนวโน้มการใช้มาตรานี้ที่ไม่ถูกต้องนั้น จะไม่มีอีกต่อไป และอีกกรณีหากจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระงับการเผยแพร่ หรือปิดเว็บไซต์ เดิมเคยมีการวิจารณ์กันมากว่า ควรให้มีกลไกการกลั่นกรองที่ดี มีความชัดเจน ทางคณะกรรมาธิการฯ ก็ได้ช่วยดูแลด้วยการเพิ่มภาคสังคมเข้าไป และยังคงต้องให้ผ่านทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ และขออนุญาตต่อศาลก่อน ก็นับว่าเป็นกลไกที่รัดกุมมากยิ่งขึ้น กระทรวงดีอี ขอย้ำว่า การปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมา เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน และให้ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด อีกทั้งเพื่อให้มีความสอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับอื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงดีอี โดยร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ไม่มีความเกี่ยวเนื่องหรือไม่มีการดำเนินการเกี่ยวกับซิงเกิลเกตเวย์แต่อย่างใด" น.อ.สมศักดิ์ฯ กล่าวในที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ