สำนักการโยธาแถลงความคืบหน้าโครงการจตุรทิศตะวันตก-ตะวันออกและการก่อสร้างอาคารลานคนเมืองหน้าศาลาว่าการกทม.

ข่าวทั่วไป Tuesday June 19, 2001 11:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--กทม.
เมื่อวานนี้ (18 มิ.ย.44) เวลา 11.00 น. นายสนั่น โตทอง ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. พร้อมด้วยรองผู้อำนวยการสำนักการโยธา และผู้อำนวยการการกองที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าว ความคืบหน้าโครงการจตุทิศตะวันตก-ตะวันออก โครงการก่อสร้างอาคารลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
จตุรทิศตะวันออกหลายส่วนเปิดให้ใช้แล้ว
นายสนั่น โตทอง ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวถึงโครงการจตุรทิศตะวันตก-ตะวันออก ว่า เป็นโครงการตามแนวพระราชดำริ เพื่อเชื่อมฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร โดยฝั่งตะวันตกเริ่มจากทางคู่ขนานลอยฟ้าถนน บรมราชชนนี, สะพานพระราม 8, ถนนราชดำเนินนอก ฝั่งตะวันออกเริ่มจากโครงการจตุรทิศตะวันออก ช่วง ก. (โครงการปรับปรุงถนนศรีอยุธยา จากถนนราชดำเนินนอก ถึงถนนสวรรคโลก) โครงการจตุรทิศตะวันออก ช่วง ข. (โครงการก่อสร้างถนนเลียบบึงมักกะสัน) โครงการจตุรทิศตะวันออก ช่วง ค. (โครงการก่อสร้างถนนจากถนนเลียบบึงมักกะสัน-ถนนเลียบคลองบางกะปิ) โครงการจตุรทิศตะวันออก ช่วง ง. (โครงการก่อสร้างถนนใต้ทางด่วนจากถนนเลียบคลองบางกะปิ-ถนนพระราม 9) และโครงการสะพานข้ามทางแยกถนนรามคำแหง-ถนนพระราม 9 เข้าสู่ถนนพระราม 9 ตัดใหม่ต่อไป จนถึงถนนกรุงเทพ-ชลบุรีสายใหม่ ทั้งนี้ ปัจจุบันโครงการจตุรทิศตะวันออก ช่วง ก.ข.ค.ง.ได้ดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดใช้แล้ว 2 โครงการ คือ โครงการจตุรทิศตะวันออก ช่วง ก. และช่วง ง.
ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการจตุรทิศตะวันออก ช่วง ข. และช่วง ค. ว่า สำหรับโครงการ จตุรทิศ ช่วง ข.ประกอบด้วย สะพานข้ามทางแยก จากถนนศรีอยุธยาข้ามถนนราชปรารภ ขนาด 4 ช่องจราจร จนถึงบริเวณบึงมักกะสัน สะพานเหนือบึงมักกะสันใต้ทางด่วนขั้นที่ 2 ต่อจากสะพานข้ามทางแยก ถึงบริเวณก่อนจะถึงถนนอโศก-ดินแดง ขนาด 6 ช่องจราจร ความยาวประมาณ 1,600 เมตร ถนนเชื่อมจากสะพานใต้ทางด่วนขั้นที่ 2 ถึงแยกถนนประชาสงเคราะห์ ขนาด 4 ช่องจราจร ความยาวประมาณ 650 เมตร ถนนเชื่อมไปยังถนนใกล้เคียง เช่น ถนนเชื่อมไปถนนใต้ทางด่วนขั้นที่ 1 ถนนเชื่อมในอนาคตไปยังถนนนิคมมักกะสัน ที่กลับรถเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการใช้สัญญาณไฟจราจรที่ทางแยก ปรับปรุงทางแยกบริเวณ ต่อเนื่อง บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ขณะนี้ โครงการ ช่วง ข. ได้เปิดทดลองเดินรถทางเดียวจากถ.ศรีอยุธยาบริเวณหน้า รพ.พญาไท 1 — แยกประชาสงเคราะห์แล้ว ตั้งแต่ที่1 มิ.ย.ที่ผ่านมา และ คาดว่าการก่อสร้างทั้งหมดจะแล้วเสร็จประมาณเดือน ก.ย.44
เตรียมที่รองรับพร้อมย้ายชุมชนทับแก้ว
ส่วนโครงการจตุรทิศ ช่วง ค. ประกอบด้วย สะพานลอยรถยนต์ขาออกจากปลายถนนเลียบบึงมักกะสัน ข้ามถนนอโศก ข้ามแยก อ.ส.ม.ท. - ถนนเพชรบุรี และบรรจบกับถนนจตุรทิศตะวันออก ช่วง ง. (ถนนใต้ทางด่วน) ที่บริเวณคลองบางกะปิ สะพานลอยรถยนต์ขาเข้า จากถนนแยก อ.ส.ม.ท. - ถนนเพชรบุรี ข้ามถนนอโศกและต่อลงไปเชื่อมกับถนนเลียบบึงมักกะสัน On-off Ramp จากถนนอโศกไปยังถนนเลียบบึงมักกะสัน ถนนระดับพื้นดินจากถนนแยก อ.ส.ม.ท. - ถนนเพชรบุรีไปยังถนนอโศก ขยายถนนอโศก จาก 6 ช่องจราจร เป็น 8 ช่องจราจร บริษัทอิตาเลี่ยนไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ทั้งนี้การก่อสร้างถนนและสะพานจากบริเวณบึงมักกะสันถึงถนนเลียบคลองบางกะปินั้น ที่ผ่านมาติดขัดปัญหาการเวนคืนและย้าย ชุมชนทับแก้ว อย่างไรก็ดีขณะนี้กทม.ได้รับการสนับสนุนพื้นที่รองรับชุมชน 5 ไร่ ย่านคลองตัน จากการรถไฟฯ รวมทั้งได้รับการช่วยเหลือบางส่วนจากการเคหะแห่งชาติแล้ว นอกจากนี้ ยังมีอุปสรรคด้านพื้นที่การก่อสร้าง ที่ตามแบบเดิมต้องใช้พื้นที่บริเวณทางขึ้นทางด่วนพระราม 9 ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ในการนี้กรุงเทพมหานครได้ปรับปรุงแบบโดยยืดทางขึ้น — ลง ออกไป
เพื่อเลี่ยงการใช้พื้นที่ของการทางพิเศษฯ จากปัญหาดังกล่าวทำให้การก่อสร้างโครงการจตุรทิศ ช่วง ค. แล้วเสร็จล่าช้ากว่าโครงการสะพานพระราม 8 ทั้งนี้คาดว่าโครงการช่วง ค.จะแล้วเสร็จประมาณเดือน มี.ค.46 อย่างไรก็ตาม กทม. จะพยายามเร่งรัดดำเนินการโดยเร็วที่สุด เพื่อให้โครงการแก้ไขปัญหาจราจรตามแนวพระราชดำริโดยรวมมีความสอดรับต่อเชื่อมกันเพื่อเป็นการแบ่งเบาปัญหาจราจรและเสริมโครงข่ายถนนที่มีอยู่ในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อโครงการจตุรทิศตะวันตก-ตะวันออกทั้งหมดแล้วเสร็จเรียบร้อย จะทำให้การเดินทางระหว่างฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร เป็นไปด้วยความรวดเร็ว การติดขัดของการจราจรน้อยลง อีกทั้งยังจะช่วยบรรเทาปัญหาจราจรในถนนใกล้เคียงที่ไปในทิศทางเดียวกัน ได้แก่ ถนนราชวิถี (อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) ถนนสุขุมวิท ถนนเพชรบุรี และถนนพระราม 9 ด้วย
ต้นปี 45 ได้ใช้สะพานพระราม 8 แน่
ด้านนายจุมพล สำเภาพล ผู้อำนวยการกองรังวัดและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน สำนักการโยธา กทม. ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการสะพานพระราม 8 กล่าวถึงความก้าวหน้าการก่อสร้างและปัญหาอุปสรรคของโครงการสะพานพระราม 8 ว่า ปัจจุบันมีความก้าวหน้าร้อยละ 70 ช้ากว่าแผนร้อยละ 20 ซึ่ง กทม.จะเร่งรัดให้ผู้รับเหมาดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค. 44 และ คาดว่าจะสามารถเปิดใช้สะพานได้ต้นปี 45 สำหรับปัญหาอุปสรรคที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนดนั้นเนื่องจากจำเป็นต้องปรับปรุงรูปแบบการก่อสร้างสะพานบริเวณตอม่อที่ 39 ซึ่งต้องใช้พื้นที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยทางธนาคารได้ขอให้ปรับเปลี่ยนเนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างใกล้อาคารโรงพิมพ์ธนบัตร จึงอาจมีปัญหาในด้านความปลอดภัย รวมทั้งปัญหาในด้านระบบการสื่อสาร ในการนี้ กทม.ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างจนเกือบจะไม่ใช้พื้นที่ของธนาคารเลย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงรูปแบบดังกล่าวใช้เวลาหลายเดือนในการเจรจาหารือเห็นชอบร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคด้านการเวนคืน ซึ่งที่ดินบางส่วนเพิ่งส่งมอบ จึงต้องใช้เวลาในการขนย้ายออกจากพื้นที่
ผู้อำนวยการกองรังวัดและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน กล่าวต่อไปว่า กรุงเทพมหานครได้ขอใช้พื้นที่บริเวณ ถ.ประชาธิปไตย หลังโรงเรียนนายร้อย จปร.เก่า เข้าไปในรั้วประมาณ 3 เมตร เพื่อเพิ่มช่องจราจรบริเวณทางลงสะพานพระราม 8 จากฝั่งธนฯมาลงฝั่งพระนคร ซึ่งเมื่อเพิ่มช่องจราจรอีก 1 ช่อง ความกว้างประมาณ 2.95 — 3.06 ม. ระยะทาง 200 ม.เศษ จะมีช่องจราจร 6 ช่อง ทำให้รถยนต์ที่ลงจากสะพานสามารถเลี้ยวซ้ายผ่านตลอดเข้า ถ.ประชาธิปไตยไปยัง ถ.พิษณุโลก และถ.ศรีอยุธยาได้อย่างคล่องตัวโดยไม่ต้องรอสัญญาณไฟ ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบให้ใช้พื้นที่ดังกล่าวจากทางกองทัพบกเจ้าของพื้นที่ ก็จะช่วยลดปัญหาการจราจรได้
ลานคนเมืองหน้าศาลาว่าการกทม.เสร็จ ต.ค.45
ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างอาคารลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ว่า ขณะนี้ได้ผลงานประมาณ 27.53 % ล่าช้ากว่าแผน 65.62 % ทั้งนี้สาเหตุที่งานล่าช้าเนื่องจากการก่อสร้างมีปัญหาอุปสรรค ติดแนว DUCT BANK ของการไฟฟ้า และเรื่องการสำรวจทางโบราณคดีพร้อมงานก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จประมาณเดือน ต.ค.45
อนึ่ง โครงการก่อสร้างลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เป็นอาคารที่จอดรถชั้นใต้ดิน 2 ชั้น และลานอเนกประสงค์ 1 ชั้น ขนาดพื้นที่ 9,360 ตารางเมตร จอดรถได้ 708 คัน แยกเป็นรถยนต์ 520 คัน รถจักรยานยนต์ 174 คัน รถคนพิการ 14 คัน ค่าก่อสร้าง 240,037,380 บาท ผู้รับจ้าง คือ บริษัทซีฟโก้ จำกัด
บริการข้อมูลด้านอาคารทางอินเตอร์เน็ต
ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กล่าวด้วยว่า ทางกรุงเทพมหานครได้จัดให้มีการบริการให้ความรู้ ความเข้าใจในกฎหมายควบคุมอาคารที่เกี่ยวข้องในเรื่องการซื้อที่ดิน ซื้ออาคาร หรือกฎหมายที่ใช้ในการพิจารณาอนุญาตก่อสร้างอาคาร ตลอดจนข้อแนะนำในการออกแบบอาคารประเภทต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนได้มีความรู้ ความเข้าใจอีกทางหนึ่ง โดยทาง INTERNET ที่เว็บไซต์ WWW.BMA.GO.TH ซึ่งจะมีข้อมูลเพื่อบริการประชาชนดังนี้ 1. ข่าวสารให้บริการความรู้เกี่ยวกับกฎหมายควบคุมอาคารในกรุงเทพมหานคร 2. ข้อแนะนำในการออกแบบอาคารประเภทต่าง ๆ 9 ประเภท 3. แบบบ้านเพื่อบริการประชาชนฟรี 9 แบบ โดยประชาชนสามารถใช้แบบฟอร์มการขออนุญาตต่าง ๆ จาก INTERNET ได้นอกจากนี้ยังมีศูนย์ให้คำปรึกษาอาคารค้างการก่อสร้าง ซึ่งหากมีปัญหาในเรื่องการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร สามารถขอคำแนะนำ ได้ที่กองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ถ.มิตรไมตรี ดินแดง กรุงเทพมหานคร โทร. 247-0075--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ