กรมสุขภาพจิต ปรับแผนให้บริการปฐมพยาบาลทางใจหลังพบภาพรวมจิตใจคนไทยไม่น่าห่วง

ข่าวทั่วไป Tuesday December 20, 2016 14:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--กรมสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต ปรับแผนให้บริการปฐมพยาบาลทางใจหลังพบภาพรวมจิตใจคนไทยไม่น่าห่วงวอน สังคมเข้าใจ คนไร้ที่พึ่ง ไม่ได้ป่วยทางจิตทุกคน พบไม่ถึง 10% จากความร่วมมือกับ พม. เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.59 น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผยถึงภาพรวมสภาพจิตใจคนไทย รอบ 2 เดือน จากการให้บริการปฐมพยาบาลทางใจ โดยทีม MCATT หรือ ทีมปฏิบัติการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ จากหน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิตทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ 57 ทีม ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนให้บริการประชาชนตั้งแต่ 14 ตุลาคม เป็นต้นมา ณ บริเวณรอบสนามหลวง และรถโมบายปฐมพยาบาลทางใจ พบว่า ภาพรวมจิตใจคนไทยไม่น่าห่วง เนื่องจากสามารถปรับตัวได้ตามกลไกทางจิตวิทยา เมื่อพ้นช่วง 2 สัปดาห์ไปจนถึง 3 เดือน อย่างไรก็ตามยังคงให้บริการจนครบ 100 วัน ณ หน่วยบริการปฐมพยาบาลทางใจบริเวณสนามหลวงฝั่งเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า และบริเวณท่าช้าง ส่วนรถโมบายปฐมพยาบาลทางใจคลายเครียดจะให้บริการจนถึงวันที่28 ธันวาคมนี้ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลา 2 เดือนของการให้บริการ พบผู้มาขอรับบริการมีภาวะเสี่ยงสุขภาพจิต 5พันกว่ารายมีเพียงร้อยละ 3 เป็นผู้ป่วยจิตเวชส่วนใหญ่ได้รับการวินิจฉัยเป็น โรคจิตเภท ซึ่งมีอาการกำเริบจากการขาดยา และมีเพียง ร้อยละ 2 ที่มีความคิดฆ่าตัวตาย โดยจะพบในกลุ่มโรคซึมเศร้าร่วมกับปัญหาความเครียดส่วนตัวที่สะสมมานาน เช่น ปัญหาครอบครัว เศรษฐกิจ เคยมีประวัติทำร้ายตัวเองมาก่อน ทั้งหมดได้รับการปฐมพยาบาลทางใจและส่งต่อเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษาอย่างทันท่วงที ส่วนที่เหลือจะเป็นปฏิกิริยาปกติโดยทั่วไปของความเศร้าโศกเสียใจ ร้องไห้ ฟูมฟาย และความเครียดสะสมที่มาจากปัญหาส่วนตัว/การงาน/โรคเรื้อรังทางกาย เป็นต้น แต่พบจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ จากความร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ จิตอาสาและ กทม. เพื่อจัดระเบียบในการแก้ไขปัญหาคนไร้ที่พึ่งในพื้นที่สนามหลวง ตั้งแต่คืนวันที่ 28-30พ.ย. คืนวันที่ 1 และ 8 ธ.ค. กรมสุขภาพจิตได้คัดกรองปัญหาสุขภาพจิตคนไร้ที่พึ่งจำนวนทั้งสิ้น191ราย ในจำนวนนี้ พบ ป่วยทางจิตเวช ไม่ถึงร้อยละ 10 โดยได้ส่งต่อผู้ป่วย 3 รายที่มีอาการรุนแรง ไปยังสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา และ รพ.ศรีธัญญาขณะที่ อีก 14 ราย ส่งต่อบ้านมิตรไมตรี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เพื่อเฝ้าระวังเนื่องจากมีอาการทางจิตเพียงเล็กน้อยยังไม่ถึงขั้นรุนแรงอย่างไรก็ตาม จากการคัดกรองคนไร้ที่พึ่งในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการร่วมแก้ไขปัญหาคนไร้ที่พึ่ง ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงบริการบำบัดรักษามากขึ้น เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วยและสังคม ตลอดจน เป็นโอกาสที่จะทำให้สังคมเห็นว่า จริงๆ แล้ว คนไร้ที่พึ่งที่เดินตามท้องถนนหรืออาศัยตามสถานที่สาธารณะต่างๆ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่ป่วยทางจิตเวชจริงๆซึ่งตรงนี้หลายคนมักเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ตอกย้ำตราบาปให้กับผู้ป่วยจิตเวช จากการมองคนไร้ที่พึ่งที่พบเห็น เป็นผู้ป่วยทางสุขภาพจิต เป็นคนบ้า คนไม่เต็ม ทั้งหมด ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น จึงเป็นการดีที่จะใช้โอกาสนี้สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับสังคมได้อีกทางหนึ่ง เพื่อช่วยลดตราบาปให้กับผู้ป่วย ตลอดจนส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ