มธ.จับมือมหาวิทยาลัยชั้นนำจีน เปิดหลักสูตรการแพทย์แผนจีนอินเตอร์ ร่วมพัฒนาสาธารณสุขไทยสู่ระดับสากล

ข่าวทั่วไป Thursday December 22, 2016 12:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ธ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โดยวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนปักกิ่ง เตรียมเปิดหลักสูตร "การแพทย์แผนจีนบัณฑิต" หลักสูตรนานาชาติในปี 2560 โดยมุ่งเน้นการเรียนการสอนในเชิงระบบ (System-Based) ผสมผสานกับองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนจีนมาร่วมพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ตลอดจนผลักดันอุตสาหกรรมด้านการแพทย์ให้ก้าวสู่ระดับสากล อันสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ในอนาคต ทั้งนี้ ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรดังกล่าวจะได้รับปริญญา 2 ใบ (Dual Degree) คือปริญญาการแพทย์แผนจีนบัณฑิต (พจ.บ.)จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจากมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนปักกิ่ง สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มธ. ศูนย์รังสิต หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4440-59 ต่อ 7605 หรือเข้าไปที่ www.cicm.tu.ac.th ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2560 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนปักกิ่ง (Beijing University of Chinese Medicine) เตรียมเปิดหลักสูตรการแพทย์แผนจีนบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) โดยมุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนจีน มาร่วมพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ตลอดจนผลักดันอุตสาหกรรมด้านการแพทย์ให้ก้าวสู่ระดับสากล อันสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ในอนาคตโดยล่าสุดทั้ง 2 สถาบันได้ลงนามความร่วมมือเพื่อเป็นการพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการจัดกิจกรรมวิชาการต่างๆ อาทิ การอบรม การจัดสัมมนาทางวิชาการ และการแลกเปลี่ยนบุคลากร เป็นต้น ทั้งนี้หลักสูตรการแพทย์แผนจีนบัณฑิตของ มธ. เป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทยที่ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนปักกิ่ง ในการพัฒนาหลักสูตรนานาชาติและจัดการเรียนการสอนร่วมกัน โดยมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนปักกิ่งเป็น 1 ใน 4 สถาบันการศึกษาการแพทย์แผนจีนระดับสูงที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2499 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่ยุคใหม่ของประเทศจีน โดยผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนจีนในประเทศมาแล้วกว่า 300,000 คน และชาวต่างชาติอีกมากกว่า 20,000 คน จาก 90 ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศมากมาย อาทิ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยควีนส์ออฟเบลฟาสต์ ประเทศอังกฤษ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น ดร.ภารดี แสงวัฒนกุล อาจารย์ประจำหลักสูตรการแพทย์แผนจีนบัณฑิต วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า การแพทย์แผนจีนเป็นศาสตร์ที่พัฒนามาจากประสบการณ์เพื่อความอยู่รอดจากโรคภัยไข้เจ็บของชาวจีน อันเป็นภูมิปัญญาและองค์ความรู้ที่ตกผลึกมานานเป็นระยะเวลาหลายพันปี ซึ่งปัจจุบันถือเป็นศาสตร์การแพทย์ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาอาการเจ็บป่วยได้อย่างหลากหลาย โดยมุ่งเน้นการปรับระบบการทำงานต่างๆของร่างกายให้อยู่ในภาวะสมดุลอย่างเป็นองค์รวม ด้วยวิธีการรักษาทางการแพทย์แผนจีน เช่น สมุนไพรจีน การฝังเข็ม การรมยา การครอบแก้ว การนวดทุยหนา การกวาซา เป็นต้น ดร.ภารดี กล่าวต่อว่า สำหรับหลักสูตรการแพทย์แผนจีนบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) ผู้เรียนจะได้ศึกษาในเชิงระบบ (System-Based) โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการปรับสมดุลระบบต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ อาทิ ระบบทางเดินหายใจ ระบบกล้ามเนื้อและผิวหนัง ระบบประสาทและสมอง ฯลฯ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยรวมถึงสามารถรักษาโรคต่างๆ โดยปัจจุบันองค์การอนามัยโลกมีผลงานวิจัยรับรองว่า การฝังเข็มสามารถใช้รักษาและฟื้นฟูโรค อาการ หรือภาวะได้กว่า 100 ชนิด อาทิภาวะซึมเศร้า โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะเครียด โรคอ้วนอาการปวดศีรษะ โรคเก๊าท์ นอนไม่หลับ เยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นต้น อย่างไรก็ดี การรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน สามารถประยุกต์ใช้ในการรักษาร่วมกับศาสตร์การแพทย์แขนงอื่น เช่น การแพทย์แผนปัจจุบัน การแพทย์แผนไทย เป็นต้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนไทย หลักสูตรดังกล่าวใช้ระยะเวลาในการศึกษาทั้งสิ้น 6 ปี โดยในชั้นปีที่ 1, 3 และ 4 จะจัดการเรียนการสอนที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มธ.ศูนย์รังสิต ส่วนในชั้นปีที่ 2, 5 และ 6 จะจัดการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนปักกิ่ง กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน โดยจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาจีนและภาษาอังกฤษ อย่างไรก็ตาม ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานด้านภาษาจีนมาก่อน เนื่องจากทางหลักสูตรจะมีการสอนพื้นฐานภาษาจีนให้ในชั้นปีที่ 1 และเมื่อขึ้นชั้นปีที่ 2 ผู้เรียนจะได้ศึกษาภาษาจีนอย่างเต็มรูปแบบทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน รวมทั้งภาษาจีนโบราณ ภาษาจีนทางการแพทย์แผนจีน และประวัติศาสตร์การแพทย์แผนจีน ณ มหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนปักกิ่ง อย่างไรก็ดี สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรดังกล่าวจะได้รับปริญญา 2 ใบ (Dual Degree) คือปริญญาการแพทย์แผนจีนบัณฑิต (พจ.บ.) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจากมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนปักกิ่ง โดยบัณฑิตจะมีโอกาสในการสอบใบประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีนของทั้งประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีน ตลอดจนสามารถประกอบอาชีพได้อย่างหลากหลาย อาทิ แพทย์แผนจีนในโรงพยาบาลทั้งรัฐบาลและเอกชน อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิชาการสาธารณสุข ผู้ประกอบธุรกิจทางด้านการแพทย์แผนจีน นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ เป็นต้น ปัจจุบันตลาดการแพทย์แผนจีนทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตสูง เนื่องจากเป็นศาสตร์การแพทย์ที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่าเป็นการดูแลรักษาสุขภาพของผู้ป่วยแบบองค์รวมอย่างยั่งยืน ปลอดภัย ลดการใช้สารเคมีและเครื่องมือทางการแพทย์ราคาสูง ทำให้มีผู้สนใจเข้ารับการรักษาด้วยการแพทย์แผนจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศไทยมีผู้ที่ได้รับอนุญาตประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีนเพียง 900 กว่าคนเท่านั้น ดังนั้นการผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนจีนที่มีคุณภาพออกสู่สังคมจึงนับเป็นสิ่งสำคัญ อันจะช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้แก่ประชาชนผู้ซึ่งเป็นกำลังในการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวหน้าในลำดับต่อไป ด้าน รศ.นพ.กัมมาล กุมารปาวา คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากหลักสูตรการแพทย์แผนจีนบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ ยังได้พัฒนาหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุในหลักสูตรนานาชาติขึ้นอีก 2 สาขาดังนี้ · หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเวชศาสตร์อายุรวัฒน์ (Longevity Medicine) เปิดรับผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต (พ.บ.) ที่ต้องการสร้างความเชี่ยวชาญในการรักษาและจัดการสุขภาพของผู้สูงอายุ ในระดับบุคคล ภายใต้ความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โดยนักศึกษาสามารถเลือกแผนการเรียนได้ตามความต้องการ ทั้งแบบวิทยานิพนธ์ หรือ สารนิพนธ์ ร่วมกับการออกตรวจและฝึกปฏิบัติทางการแพทย์ ณ ศูนย์ Vital Life โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ · วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพฤฒาวิทยาสังคม (Social Gerontology) เป็นการประยุกต์สรรพวิทยาและองค์ความรู้จากแขนงวิชาชีพต่างๆ ให้ผู้สูงอายุมีสุขภาวะที่ดี อยู่ในสังคมที่ดี โดยเปิดรับผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีทุกสาขา - ทุกแขนงวิชา ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนในประเด็นผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีมาตรฐานของคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมกับคนในวัยอื่นๆ โดยนักศึกษาสามารถเลือกได้ทั้งการทำวิจัยหรือการวิทยานิพนธ์ ผ่านการฝึกปฏิบัติงานภาคสนามที่สอดคล้องกับประเด็นวิจัยของนักศึกษา สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มธ. ศูนย์รังสิต หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4440-59 ต่อ 7605 หรือเข้าไปที่ www.cicm.tu.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ