ปภ.แนะติดตั้ง – ดูแลรถติดตั้งก๊าซถูกวิธี...ลดเสี่ยงอันตรายร้ายแรง

ข่าวทั่วไป Wednesday January 4, 2017 17:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะข้อควรปฏิบัติในการติดตั้งและดูแลรถติดตั้งระบบก๊าซ โดยเลือกติดตั้งระบบก๊าซจากศูนย์บริการที่ได้มาตรฐาน ใช้ถังก๊าซและอุปกรณ์ส่วนควบสำหรับติดตั้งในรถยนต์ ซึ่งผ่านการตรวจสอบสภาพและได้มาตรฐานตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงไม่ดัดแปลงและไม่ติดตั้งระบบก๊าซรถยนต์ด้วยตนเอง ตลอดจนหมั่นตรวจสอบระบบก๊าซให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย ตรวจสอบและเปลี่ยนอุปกรณ์ระบบก๊าซตามระยะเวลาที่กำหนด อีกทั้งไม่ปรับแต่งการจ่ายก๊าซหรือดัดแปลงอุปกรณ์ระบบก๊าซด้วยตนเอง กรณีสังเกตพบเครื่องยนต์ทำงานผิดปกติ ให้รีบนำรถไปเข้าศูนย์บริการ เพื่อตรวจสอบระบบก๊าซทันที จะช่วยป้องกันก๊าซรั่ว ทำให้เกิดระเบิดหรือไฟไหม้รถได้ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า บ่อยครั้งที่เกิดอุบัติเหตุ ไฟไหม้รถยนต์ที่ติดตั้งระบบก๊าซ ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการติดตั้งระบบก๊าซจากศูนย์บริการที่ไม่ได้มาตรฐาน การใช้อุปกรณ์ ไม่มีคุณภาพ รวมถึงผู้ขับขี่ไม่ตรวจสอบและดูแลระบบก๊าซให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ทำให้มีความเสี่ยงต่อการระเบิดและ ไฟไหม้รถ เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติในการติดตั้ง และดูแลรถติดตั้งระบบก๊าซ ดังนี้การติดตั้งระบบก๊าซ โดยเลือกติดตั้งระบบก๊าซจากศูนย์บริการที่ได้มาตรฐาน มีใบอนุญาตจากกรมขนส่งทางบก มีวิศวกรควบคุมการติดตั้ง เพื่อป้องกันความผิดพลาดจากการติดตั้งไม่ถูกวิธี รวมถึงใช้ถังก๊าซและอุปกรณ์ส่วนควบสำหรับติดตั้งในรถยนต์ อาทิ หัววาล์วก๊าซ วาล์วควบคุมการไหลของก๊าซ วาล์วนิรภัย เครื่องวัดระดับก๊าซท่อก๊าซ ซึ่งผ่านการตรวจสอบสภาพและได้มาตรฐานตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ตลอดจนไม่ดัดแปลงและไม่ติดตั้งระบบก๊าซรถยนต์ด้วยตนเอง อาทิ นำถังก๊าซหุงต้มที่ใช้ในครัวเรือนมาติดตั้งกับรถยนต์ เพราะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอันตราย การดูแลรถติดตั้งระบบก๊าซ โดยหมั่นตรวจสอบระบบก๊าซให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย นำรถไปตรวจสอบที่ศูนย์บริการอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อป้องกันอุปกรณ์ระบบก๊าซชำรุด ทำให้เกิดอันตรายได้ อีกทั้งตรวจสอบและเปลี่ยนอุปกรณ์ระบบก๊าซตามระยะเวลาที่กำหนด อาทิ ทำความสะอาดไส้กรองอากาศทุก 5,000 กิโลเมตร เปลี่ยนไส้กรองก๊าซและหัวเทียนทุก 20,000 – 30,000 กิโลเมตร ตรวจสอบรอยรั่วซึมของก๊าซอยู่เสมอ โดยนำน้ำสบู่ลูบตามข้อต่อท่อเดินก๊าซ และจุดต่างๆ หรือใช้เครื่องตรวจวัดการรั่วของก๊าซ หากพบจุดรั่วซึม ให้นำรถไปเข้าศูนย์บริการตรวจสอบและซ่อมแซม รวมถึงนำรถไปตรวจสอบทุกครั้งหลังประสบอุบัติเหตุ เพื่อป้องกันตัวยึดถังก๊าซ ท่อนำจ่ายก๊าซ สายระบายก๊าซ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ของระบบก๊าซเสียหาย ก่อให้เกิดอันตรายได้ อีกทั้งไม่ปรับแต่งการจ่ายก๊าซหรือดัดแปลงอุปกรณ์ระบบก๊าซด้วยตนเอง ควรให้ช่างที่มีความเชี่ยวชาญดำเนินการ เพราะอาจทำให้เครื่องยนต์เสียหายหรือทำงานผิดปกติ ก่อให้เกิดอันตรายได้ กรณีสังเกตพบเครื่องยนต์ทำงานผิดปกติ อาทิ มีเสียงดัง เครื่องยนต์สั่น เร่งเครื่องไม่ขึ้น ไม่ตัดเข้าระบบก๊าซ ให้รีบนำรถไปเข้าศูนย์บริการเพื่อตรวจสอบระบบก๊าซทันที จะช่วยป้องกันก๊าซรั่ว ทำให้เกิดระเบิดหรือไฟไหม้รถได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ