นายกฯ สั่งการเร่งแก้ไขปัญหาอุทกภัยภาคใต้ กอปภ.ช. ยกระดับการจัดการสาธารณภัยเป็นระดับ 3 - มุ่งเน้นการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ข่าวทั่วไป Friday January 6, 2017 16:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ห่วงใยประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ จึงได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคใต้อย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศยกระดับการจัดการ สาธารณภัยจากระดับ 2 (สาธารณภัยขนาดกลาง) เป็นระดับ 3 (สาธารณภัยขนาดใหญ่) เพื่อให้การบริหารจัดการ สั่งการ และเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ตามที่ได้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2559 และได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงต้นเดือนมกราคม 2560 ทำให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 9 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี ตรัง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร ซึ่งนายกรัฐมนตรี ห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ จึงได้ร่วมกับคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่ ตรวจเยี่ยมสถานการณ์อุทกภัยในอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส พร้อมสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคใต้อย่างเร่งด่วน อีกทั้งจากการประเมินสถานการณ์ พบว่า พื้นที่ภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักต่อเนื่องถึงวันที่ 8 มกราคม 2560 ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการ สั่งการ และแก้ไขปัญหาอุทกภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ จึงได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ประกอบแผนการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 ประกาศยกระดับการจัดการสาธารณภัยจากระดับ 2 (สาธารณภัยขนาดกลาง) เป็นระดับ 3 (สาธารณภัยขนาดใหญ่) เพื่อให้การอำนวยการและเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยมีอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง ทำหน้าที่อำนวยการประสานการปฏิบัติ และติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ เพื่อพิจารณาสั่งการแก้ไขปัญหาในเชิงนโยบายให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยในพื้นที่ รวมถึงได้จัดตั้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ส่วนหน้า) ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี และ เขต 12 สงขลา ซึ่งมีนายประยูร รัตนเสนีย์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน ทำหน้าที่กำกับดูแล และผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย พร้อมทั้งส่วนราชการต่างๆ บูรณาการช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้บัญชาการในแต่ละระดับ และเจ้าหน้าที่มูลนิธิ อาสาสมัคร และเจ้าพนักงานอาสาสมัครป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการฯ ทั้งนี้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายพลเรือนและหน่วยทหาร สนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยเร่งด่วนแล้ว เพื่อดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย อีกทั้ง ได้ประสานกรมบัญชีกลางขอขยายวงเงินทดรองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับการ ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพิ่มเติมอีกจังหวัดละ 50 ล้านบาท และขออนุมัติยกเว้นหลักเกณฑ์เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปด้วยความคล่องตัว รวมถึงได้ประสานกระทรวงคมนาคม เร่งซ่อมแซมเส้นทางคมนาคม ให้สามารถสัญจรได้ตามปกติโดยเร็ว ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขได้สนับสนุนทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการดูแลสุขภาพอนามัยของผู้ประสบภัย ตลอดจนประสานการวางระบบการติดต่อสื่อสารโทรคมนาคมให้สามารถใช้การได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและให้ผู้ประสบภัยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด รวมถึงลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากอุทกภัยให้ได้มากที่สุด 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ