ผู้เชี่ยวชาญชี้ตลาดส่งออกสินค้าไทยผ่านการค้าออนไลน์แนวโน้มสดใส

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday December 27, 2000 11:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ธ.ค.--โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์ เวิลด์วายด์
ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าออนไลน์ชี้ลู่ทางการส่งออกสินค้าของผู้ส่งออกไทยผ่านระบบพาณิชย์อิเลคทรอนิกส์ หรือ อี-คอมเมริซ์ ยังเติบโตอีกมาก โดยมีปัจจัยความได้เปรียบด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเข้าถึงพันธมิตรธุรกิจข้ามชาติได้ดี การสนับสนุนจากภาครัฐ การแข่งขันในตลาดโลก ตลอดจนความเชี่ยวชาญและบริการของผู้ดำเนินธุรกิจด้านการค้าออนไลน์ส่งเสริม อย่างไรก็ตาม เรื่องของกฎหมายและการขาดนักกฎหมายที่มีความรู้ด้าน "อี-คอมเมิร์ซ" ยังคงเป็นอุปสรรคที่สำคัญ
มร. เลน เลสกีลา ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้าน e-Market Intelligence Services บริษัท การ์ทเนอร์ เอเชียแปซิฟิก จำกัด ผู้นำด้านการวิจัยด้านการค้าออนไลน์ของโลก ชี้ถึงแนวโน้มการเติบโต และมูลค่าการค้าออนไลน์ในเอเชีย ในการสัมมนาโต๊ะกลม เรื่อง "จริงหรือไม่ที่ตลาดการค้าออนไลน์สร้างโอกาสและความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการชาวไทย" (Challenges and Opportunities for Thais in the e-Marketplace: Is it Fact or Fiction?) ซึ่งจัดโดย บริษัท วีลิงซ์.คอม ผู้ดำเนินธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ รูปแบบใหม่ที่ช่วยขยายช่องทางการค้าระหว่างประเทศผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแบบ B2B (Business-to-Business) D2D (Door-to-Door) เพื่อระดมความคิดด้านภาวะการค้าออนไลน์ของไทย และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งแนวโน้ม โอกาสในการส่งออก และขยายตลาดสินค้าอุปโภคของไทยในตลาดโลกผ่านระบบอีคอมเมริซ์ ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจส่งออกไทยว่า " ในปี 2545 ตลาดการค้าออนไลน์ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 3,000 แห่ง ให้บริการแก่ผู้ซื้อ ผู้จัดจำหน่าย และผู้ผลิต ราว 500,000 รายทั่วโลก โดยตลาดประมาณ 1,000 แห่ง จะอยู่ในเอเชียโดยบริการกับลูกค้ากลุ่มธุรกิจต่างๆ ราว 200,000 ราย และภายในปี 2547 ธุรกิจตลาดการค้าออนไลน์ 3 รูปแบบ อันได้แก่ ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ (commodity marketplace) ตลาดการค้าด้านความร่วมมือ (collaborative commerce marketplace) และตลาดการค้าด้านธุรกิจบริการ (business services marketplace) จะสามารถครองส่วนแบ่งถึง 80% ของตลาดการค้าออนไลน์แบบระหว่างองค์กรในภูมิภาคเอเชีย"
มร. เลสกีลา ยังกล่าวเสริมอีกว่า ในปี 2547 การซื้อขายออนไลน์แบบระหว่างองค์กร (B2B) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีมูลค่าสูงถึง 9.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และเฉพาะในประเทศไทยจะมีมูลค่าถึง 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จากตัวเลขประมาณาการแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจตลาดการค้าออนไลน์ที่คาดว่าจะเติบโตอย่างมากในอนาคตอันใกล้ ทำให้รัฐบาลไทยได้ตระหนักและได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อช่วยให้ผู้ผลิตในประเทศได้ประโยชน์สูงสุดจากตลาดดังกล่าว
ร้อยเอก สุวิพันธ์ ดิษยมณฑล ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศการค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า "กรมส่งเสริมการส่งออกได้เล็งเห็นถึงศักยภาพที่ดีในการดำเนินธุรกิจในตลาดออนไลน์ และได้มีมาตรการมากมายในการสนับสนุนให้ผู้ผลิตในประเทศเข้าสู่ตลาดการค้าออนไลน์มากขึ้น โดยคาดว่าภายใน 5 ปี ประเทศไทยจะมีรายได้ถึง 2 หมื่นล้านบาทจากการส่งออกในรูปแบบพาณิชย์อีเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการส่งออกยังเร่งร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดในการส่งเสริมพาณิชย์อีเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้ส่งออกประสบความสำเร็จในการพัฒนาธุรกิจผ่านสื่ออีเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น และแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
ด้านนางสาวศุภลักษณ์ ตรีอรรถบูรณ์ ผู้จัดการแผนกขายต่างประเทศ บริษัท ตรีอรรถบูรณ์ จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกสินค้าพลาสติกชั้นนำของไทยผ่านอีคอมเมริซ์ และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมสัมมนา กล่าวถึงผลดีของการส่งสินค้าแบบอีคอมเมริซ์ว่า " ตลาดการค้าออนไลน์เป็นทางเลือกที่เยี่ยมยอดสำหรับการส่งออกสินค้าไปยังตลาดโลก เราสามารถจำหน่ายสินค้าคงคลังที่ค้างอยู่จำนวนมากไปยังผู้ซื้อในต่างประเทศได้อย่างง่ายดาย และปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ "
"จริงๆ แล้ว บริษัทมีเว็บไซต์ และมีลูกค้าติดต่อผ่านเว็บไซต์บ้าง แต่ก็ยังไม่สามารถขายสินค้าทางอินเทอร์เน็ตได้ จนกระทั่งเราขายสินค้าผ่านระบบอีคอมเมริซ์ที่สมบูรณ์แบบของวีลิงซ์ เราจึงได้ตระหนักว่าการทำการค้านั้น ไม่ใช่เพียงแค่มีเว็บไซต์เท่านั้น แต่ต้องอาศัยประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ ฐานข้อมูลของผู้ซื้อที่ผ่านการรับรองแล้ว เครือข่ายพันธมิตรที่กว้างขวาง และการให้บริการลูกค้าที่ดีอีกด้วย จึงจะประสบความสำเร็จ วีลิงซ์ช่วยทำให้กระบวนการซื้อขายสินค้ากับต่างประเทศกลายเป็นเรื่องง่ายและรวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องรอเป็นเดือนๆ เพื่อขอเอกสารบางอย่าง เช่น หนังสือเครดิต (LOCs) จากทางธนาคาร" นางสาวศุภลักษณ์ กล่าว
นางศุภราภรณ์ เปา ผู้จัดการทั่วไป ประจำประเทศไทย บริษัท วีลิงซ์.คอม อิงค์ กล่าวว่า ธุรกิจพาณิชย์อีเล็กทรอนิกส์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแบบ B2B และ D2D เป็นธุรกิจหลักสำหรับโลกเศรษฐกิจยุคดิจิตอล และประชากรของโลกจะหันมาซื้อขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตมากขึ้น ส่งผลให้โอกาสในการส่งออกสินค้าไทยผ่านระบบอินเตอร์เน็ตสูงตามไปด้วย นอกจากนี้ วีลิงซ์ยังมีความเชี่ยวชาญทางการตลาด ความได้เปรียบด้านเทคโนโลยี เครือข่ายพันธมิตรที่มีอยู่ทั่วโลก แหล่งเงินทุนที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะสามารถเปิดตลาดส่งออกสินค้าไทยให้บริการแก่ผู้ประกอบธุรกิจส่งออกไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในตลาดการค้าออนไลน์ ผู้ผลิตและจัดส่งสินค้ามีโอกาสเข้าถึงผู้ซื้อที่มีศักยภาพในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งยังได้รับประโยชน์จากบริการสนับสนุนด้านเทคนิค ตลอดจนการสนับสนุนจากเครือข่ายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธนาคาร บริษัทขนส่ง และ บริษัทประกันภัย นอกจากนี้ ตลาดการค้าออนไลน์ยังช่วยลดความเสี่ยงและต้นทุนด้านเทคโนโลยี เนื่องจากผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องลงทุนมากด้านเทคโนโลยีและการวางระบบอี-คอมเมิร์ซอย่างเต็มรูปแบบ
อย่างไรก็ตาม ดร. พินัย ณ นคร จากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แสดงความเห็นว่า แม้จะมีโอกาสและการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องและองค์กรเอกชน แต่การขาดกฎหมายนักกฎหมาย และความรู้ในด้านสารสนเทศ ยังคงเป็นอุปสรรคที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยกล่าวเสริมว่าได้มีการยกร่างกฎหมายพาณิชย์ธุรกิจไปบ้างแล้ว โดยร่างกฎหมายบางฉบับได้ผ่านการเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้วและกำลังรอการอนุมัติจากวุฒิสภา อย่างไรก็ตาม ร่างพระราชบัญญัติได้ถูกแก้ไขโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งบางท่านไม่มีความรู้เกี่ยวกับพาณิชย์ธุรกิจเพียงพอ และ หวังให้ปัญหาเรื่องนี้ได้รับการแก้ไขในระดับวุฒิสภา
วีลิงซ์.คอม อิงค์ เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอี-คอมเมิรซ์รูปแบบใหม่ที่เปิดช่องทางสำหรับการทำการค้าระหว่างประเทศผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแบบ B2B และ D2D ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา วีลิงซ์ ดำเนินธุรกิจโดยอาศัยโซลูชั่นที่ครบวงจรและพันธมิตรทางธุรกิจของโครงการที่ล้วนแล้วแต่มีชื่อเสียงในระดับโลกในการให้บริการการค้าระหว่างประเทศกลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจของวีลิงซ์ประกอบด้วย เฟดเอ็กซ์ (FedEx), เอชเอสบีซี กรุ๊ป [เอชเอสบีซี โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
], ลอยด์ส (LLOYD'S), เมย์นาร์ดส อินดัสตรี้ส (Maynards Industries), เอ็นเอ็นอาร์ [NNR Aircargo Service (USA) Inc.
], โออีซี (Overseas Express Consolidators), เอสจีเอสออนไซต์ (SGSonSITE) ซึ่งเป็นแผนกหนึ่งของเอสจีเอส กรุ๊ป, และ เวลส์ ฟาร์โก แอนด์ คอมปานี วีลิงซ์ ช่วยให้ผู้ผลิตและจัดส่งสินค้าสามารถขายสินค้าคงคลังให้กับผู้ซื้อที่มีศักยภาพกว่า 7,800 รายในอเมริกาเหนือและทั่วโลกผ่านการค้าออนไลน์
แถลงข่าวในนาม : วีลิงซ์.คอม อิงค์
รายละเอียดเพิ่มเติม : รมมุก เพียจันทร์ / วาริท จรัณยานนท์
บริษัท โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์ เวิลด์วายด์ จำกัด
โทร. 632-8300-7
อี-เมล์ : rommuk.piachan@ogilvy.com
varit.charanyanond@ogilvy.com-- จบ--
-อน-

แท็ก การส่งออก  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ