รมว.วธ. สั่งทุกหน่วยงานปรับโฉมแผนงานวิจัย ปี 60 - 61 ให้สอดรับยุทธศาสตร์ 20 ปี รัฐบาล - นโยบายประเทศไทย 4.0 แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับ 12

ข่าวทั่วไป Tuesday January 31, 2017 12:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า ได้เป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินงานวิจัยตามนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรมและของรัฐบาลโดยได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานของ วธ. ไปปรับปรุงแผนงานและโครงการวิจัย ในปี 2560-2561 ให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีของรัฐบาล รวมทั้งสอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และศาสตร์พระราชาในส่วนที่เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจและพระราชดำรัสด้านวัฒนธรรมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รวมถึงยุทธศาสตร์ด้านวัฒนธรรม ระยะ 20 ปี เพื่อให้การขับเคลื่อนภารกิจงานวิจัยในภาพรวมของ วธ.ก้าวไปในทิศทางเดียวกัน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านนโยบายและบริหารงานวัฒนธรรมได้ ที่สำคัญช่วยตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาประเทศให้มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้หารือเรื่องการกำหนดแผนงานวิจัย โดยมุ่งเน้นการนำงานวิจัยและนำข้อมูลจากการวิจัยมาใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนภารกิจในภาพรวมทั้งระดับกระทรวงและระดับหน่วยงานได้อย่างแท้จริง โดยมุ่งอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิม และพัฒนาต่อยอดให้เหมาะสมกับยุคสมัยใหม่ช่วยสร้างรายได้และภาพลักษณ์ที่ดีแก่ประเทศ อาทิกรมการศาสนา (ศน.) ควรทำวิจัยเรื่องความร่วมมือด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ควรทำการวิจัยแนวทางการบริหารศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยหลังปรับปรุงใหม่ หรืองานวิจัยเกี่ยวกับชุมชนต่างชาติในไทย และงานวิจัยเกี่ยวกับเมืองแห่งอาหารของประเทศไทย รวมทั้งงานวิจัยเกี่ยวกับการแสดงของศิลปินพื้นบ้าน อาทิ หมอลำ ลิเก และงิ้วในไทย ในมิติวัฒนธรรมและการสร้างรายได้เข้าประเทศ เป็นต้น นอกจากนี้สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ควรทำวิจัยเกี่ยวกับชุดไทยร่วมสมัย และงานวิจัยเรื่องศิลปร่วมสมัยกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ขณะที่กรมศิลปากร (ศก.) ก็น่าจะทำวิจัยการพัฒนาชุดโขน การพัฒนาการให้บริการของแหล่งเรียนรู้ เช่น หอสมุดแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.) ควรวิจัยการมีงานทำและรายได้ของนักศึกษาวิทยาลัยนาฏศิลป์ที่เรียนจบ สบศ. ส่วนศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ควรทำวิจัยน้ำใจในเมืองท่องเที่ยว การสร้างความปรองดองด้วยมิติทางวัฒนธรรม ขณะที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ก็ควรวิจัยตลาดและโอกาสของภาพยนตร์ไทยในเวทีโลก การนำศิลปวัฒนธรรมไทยมาสร้างภาพยนตร์ แอนิเมชั่น เพื่อนำรายได้เข้าประเทศ เป็นต้น อย่างไรก็ตามได้มอบหมายให้แต่ละกรมกลับไปทบทวน การจัดทำงานวิจัย ในการนำมาใช้ในการขับเคลื่อนงานของกระทรวงทั้งระบบ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการทำงานวัฒนธรรมในมิติต่างๆ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ