นักวิชาการ มธ. เผย 4 เหตุปัจจัย 'ความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรม’ ระบบการศึกษาเป็นทางออกต้นน้ำ แนะปลูกฝังจริยธรรมนำชาติโปร่งใส

ข่าวทั่วไป Tuesday January 31, 2017 12:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ชี้ความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยเกิดจากสาเหตุสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ ปัญหาด้านปริมาณ ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐรีบเร่งในการพิจารณาคดีโดยขาดความรอบคอบ ปัญหาอำนาจทุนนิยม เป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยอำนาจมืดของเงินและอิทธิพลส่งผลให้เกิดความอยุติธรรม ปัญหาโครงสร้างการทำงานของกระบวนการยุติธรรมไทย ที่ขาดสมดุลในการสืบพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานสืบพยาน และ ปัญหาศักยภาพของบุคลากรภาครัฐ ที่มุ่งเน้นแต่การปฏิบัติงานให้เสร็จ แต่มิได้มุ่งให้สัมฤทธิ์ผลในความละเอียดรอบคอบ ไม่คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของผู้บริสุทธิ์เป็นสำคัญ พร้อมเชื่อระบบการศึกษาเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ และเต็มเปี่ยมไปด้วย 'จริยธรรม' อันเป็นหนทางที่จะช่วยยกระดับความยุติธรรม ในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยให้สูงขึ้นไปในอนาคต ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนา "ความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรม: ปัญหาและทางออก" โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คณะนิติศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-613-2127 หรือ 02-613-2141 หรือเข้าไปที่ www.law.tu.ac.th ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รัฐอมฤต คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย เป็นประเด็นสังคมที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของพลเมืองผู้บริสุทธิ์อย่างไม่เป็นธรรม โดยเหตุปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การเกิดความผิดพลาดจำแนกได้ 4 ประการคือ 1) ปัญหาด้านปริมาณ 2) ปัญหาอำนาจทุนนิยม 3) ปัญหาโครงสร้างการทำงานของกระบวนการยุติธรรมของไทยและ 4) ปัญหาศักยภาพของบุคลากรภาครัฐ ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ · ปัญหาด้านปริมาณ เนื่องด้วยปัจจุบันจำนวนคดีอาญาที่ส่งฟ้องในประเทศไทยมีจำนวนมาก โดยข้อมูลจากสถิติคดีของศาลยุติธรรมะระบุว่า ศาลชั้นต้นมีปริมาณคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาในปี 2557 คงค้างทั้งสิ้น 665,722 คดี ส่วนคดีที่รับมาใหม่ในปี 2558 ตัวเลขอยู่ที่ 647,664 คดี ทั้งนี้จำนวนคดีที่เพิ่มมากขึ้นได้สร้างแรงกดดันแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจในการเร่งปิดสำนวนคดี โดยอาจขาดความรอบคอบและรัดกุมในการสืบพยานหลักฐาน อันมีผลต่อเนื่องให้อัยการได้รับพยานหลักฐานที่ไม่ครอบคลุมในการพิจารณาคดี · ปัญหาอำนาจทุนนิยม พลเมืองในทุกๆ สังคมล้วนมีความแตกต่างในฐานะเชิงอำนาจและเศรษฐกิจ โดยผู้ที่มีอำนาจและเงินตรามีโอกาสอย่างมากที่จะใช้อิทธิพลในการข่มขู่ คุกคาม และครอบงำการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องปฏิบัติตามการแทรกแซงที่ไม่ถูกต้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเกรงกลัวอิทธิพลดังกล่าว เนื่องจากส่งผลต่อหน้าที่การงาน และชีวิตส่วนตัว ในขณะเดียวกันกลุ่มอิทธิพลจะมีทุนทรัพย์เพียงพอในการยื่นประกันตัว สามารถจ้างทนายที่ช่ำชอง ตลอดจนมีเครือข่ายในวงกว้างมาช่วยสนับสนุนในการสู้คดี จึงทำให้ผู้กระทำผิดมีโอกาสรอดพ้นจากโทษคดีทางอาญา ดังที่เคยปรากฏอยู่ในข่าว เช่น บุคคลที่มีฐานะร่ำรวยทางธุรกิจขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือข่าวอุบัติเหตุเศรษฐีขับรถเบนซ์ชนรถฟอร์ดจนทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย เป็นต้น · ปัญหาโครงสร้างการทำงานของกระบวนการยุติธรรมไทย จากวิธีการพิจารณาคดีของระบบศาลไทยที่แยกส่วนกันระหว่าง ตำรวจหรือพนักงานสอบสวน อัยการ และศาล ส่งผลให้ความจริงอาจอยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจเพียงฝ่ายเดียว ขณะที่พนักงานอัยการ และศาล มีบทบาทอย่างจำกัดในการแสวงหาความจริงในกรณีคดีอาญาทั่วไป โดยหากสำนวนคดีที่ตำรวจรวบรวมพยานหลักฐานมีข้อบกพร่อง การใช้ดุลยพินิจในชั้นอัยการ และชั้นศาล ก็มีโอกาสที่จะผิดพลาดตามไปด้วย · ปัญหาศักยภาพของบุคลากรภาครัฐ โดยปัจจุบันเจ้าพนักงานสอบสวนจำนวนไม่น้อย มีความไม่เข้าใจในหลักการดำเนินคดีอาญาด้วยมุ่งให้ได้ความจริงแท้ อาทิ มีการสืบพยานหลักฐานในด้านลบเพียงด้านเดียวเพื่อมุ่งพิสูจน์ว่าผู้กล่าวหาเป็นคนผิด ในขณะที่ความเป็นจริงแล้ว ควรหาหลักฐานให้ครอบคลุมทั้งทางด้านบวกและลบ เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของพลเมืองซึ่งได้รับสิทธิ์ตามกฎหมายว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ตราบใดที่คดียังไม่มีคำพิพากษาของศาลว่ากระทำความผิด หรือการคุมขังผู้ถูกดำเนินคดีไว้เกินกว่าเหตุจำเป็น รวมไปถึงการใช้ดุลยพินิจของพนักงานอัยการและศาล ที่มักให้ความสำคัญกับพยานหลักฐานของจำเลยน้อยกว่าโจทก์ อันส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมเกิดความไม่ยุติธรรมขึ้น ทั้งนี้ ปัญหาความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมไทยต้องใช้ระยะเวลาในการปฏิรูป และแก้ไขในเชิงระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือการสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพ และเต็มเปี่ยมไปด้วย 'จริยธรรม' ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานในกระบวนการยุติธรรมที่จะขาดไม่ได้ โดยเชื่อว่าระบบการศึกษาจะเป็นกุญแจสำคัญในการหล่อหลอมบุคลากรด้านกฎหมายที่ดี ด้วยการอบรมผู้เรียนให้มีความรู้ ความเข้าใจทั้งในเชิงวิชาการและการปฏิบัติ ตลอดจนปลูกฝังและขัดเกลาให้บุคคลเหล่านี้ได้เรียนรู้โลกของการทำงานที่เน้นจริง รู้จักตระหนักถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม และ ต้องปลูกฝังให้คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ ศาสตราจารย์ ดร.อุดม กล่าวทิ้งท้าย ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนา "ความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรม: ปัญหาและทางออก" โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องจิ๊ดเศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คณะนิติศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-613-2127 หรือ 02-613-2141 หรือเข้าไปที่www.law.tu.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ