กรมศุลกากร ลงนามในบันทึกข้อตกลง ร่วมกับ กลุ่ม 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย เพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการจัดเก็บภาษี

ข่าวทั่วไป Tuesday February 7, 2017 10:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง วันนี้ (วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560) เวลา 14.00 น. ณ ห้องภาสกรวงศ์ อาคาร 1 กรมศุลกากร นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร และ กลุ่ม 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย ซึ่งประกอบด้วย สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า สมาคมการค้าผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี สมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย สมาคมโลหะไทย และสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูลข่าวสาร สนับสนุนและร่วมมือกันในการพัฒนาศักยภาพเกี่ยวกับการตรวจสอบสินค้าประเภทเหล็กและเหล็กกล้า เพื่อประสานความร่วมมือ ส่งเสริมและผลักดันให้การจัดเก็บภาษีกรมศุลกากร มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในการนี้ ได้รับเกียรติจากนายวิน วิริยประไพกิจ ประธานกลุ่ม 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย ดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกิตติมาศักดิ์ กลุ่ม 7 สมาคม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมศุลกากร และผู้แทนทั้ง 7 กลุ่มสมาคม สื่อมวลชนทุกแขนง เข้าร่วมงานเพื่อเป็นสักขีพยานเป็นจำนวนมาก สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ มีขึ้นเนื่องจาก ปัจจุบันการแข่งขันของกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำและอุตสาหกรรมเหล็กกลางน้ำในต่างประเทศ ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าภายในประเทศ ตลอดจนผู้บริโภคทั้งในภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน เนื่องจากสินค้าเหล็กเป็นวัตถุดิบที่สำคัญ สำหรับการผลิตเครื่องจักร ยานพาหนะ โครงสร้างอาคารบ้านเรือน ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ซึ่งในปี พ.ศ.2559 ประเทศไทยมีมูลค่าการนำเข้าสินค้าประเภทเหล็กและเหล็กกล้า สูงถึง 575,830 ล้านบาท จึงได้กำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อปกป้องประโยชน์ของอุตสาหกรรมภายใน ผู้บริโภค และประโยชน์สาธารณะ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 และพระราชบัญญัติมาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ.2550 ในการให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping) ตามประกาศของคณะกรรมการพิจารณามาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน และอากรปกป้อง (Safeguard) ตามประกาศของคณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เป็นหน้าที่ของกรมศุลกากรในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลการนำเข้า-ส่งออก กรมศุลกากร และกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทย จึงร่วมมือในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูลข่าวสาร สนับสนุนและร่วมมือกันในการพัฒนาศักยภาพเกี่ยวกับการตรวจสอบสินค้าประเภทเหล็กและเหล็กกล้า ตลอดจนพัฒนาศักยภาพบุคลากร ให้เกิดทักษะความรู้ในด้านการวิเคราะห์ตรวจสอบสินค้านำเข้าประเภทผลิตภัณฑ์เหล็กอย่างยั่งยืน บันทึกความเข้าใจนี้ จะแสดงถึงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นตั้งใจในการดำเนินการ เพื่อส่งเสริม ประสานความร่วมมือ และผลักดันการดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ