กรมทางหลวงเชิญชวนผู้สนใจก่อสร้างทางหลวงวงแหวนด้านใต้ ช่วงสุขสวัสดิ์-บางพลี โดยวิธีเทิร์นคีย์

ข่าวทั่วไป Monday April 17, 2000 09:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--เม.ย.17--กรมทางหลวง
กรมทางหลวงประกาศเชิญชวนเอกชนผู้สนใจ ก่อสร้างทางหลวงวงแหวนรอบนอกด้านใต้ช่วงสุขสวัสดิ์-บางพลี รวมสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาระยะทางประมาณ 20 กม. มูลค่า 16,900 ล้านบาท
นายศรีสุข จันทรางศุ อฺธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมทางหลวงได้ออกประกาศเชิญชวนเอกชนผู้สนใจจัดทำข้อเสนอเพื่อคัดเลือกเป็นผู้รับจ้างดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงวงแหวนกาญจนาภิเษกด้านใต้ช่วงสุขสวัสดิ์ - บางพลี โดยวิธีจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ (Turnkey) ตามที่ ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการให้ดำเนินการโครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2543 โดยที่กรมทางหลวงจะจำหน่ายเอกสาร "ข้อกำหนด" ระหว่างวันที่ 21 เมษายน 2543 ถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2543 โดยผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องจัดทำข้อเสนอให้เป็นไปตามรายละเอียดและเงื่อนไขที่ระบุใน "ข้อกำหนด" กำหนดยื่นเอกสารภายในวันที่ 11 กรกฎาคม 2543 เวลา 14.30 น. ณ สำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวง ถ.ศรีอยุธยา กรุงเทพฯ
โครงการก่อสร้างทางหลวงวงแหวนกาญจนาภิเษกด้านใต้ ช่วงสุขสวัสดิ์-บางพลี เป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างทางหลวงวงแหวนด้านใต้ (บางขุนเทียน-บางพลี) ตลอดสายทางมีระยะทางประมาร 34 กม. แล้วเสร็จเป็นบางส่วนแล้ว เหลือเพียงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียนและทางแยกต่างระดับสุขสวัสดิ์ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2544
สำหรับการก่อสร้างช่วงสุขสวัสดิ์-บางพลี ซึ่งจะเชิญชวนเอกชนมาก่อสร้างดังกล่าวประกอบด้วยการก่อสร้างทางยกระดับ 6 ช่องจราจร ยาวประมาณ 20 กม. มีจุดเริ่มต้นที่ทางตัดผ่านถนนสุขุมวิท ถนนศรีนครินทร์ และถนนเทพารักษ์ ซึ่งจะต้องก่อสร้างทางแยกต่างระดับบริเวณจุดตัดกับถนนดังกล่าว ก่อสร้างสะพานขึงสองระนาบข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณอำเภอพระประแดง จำนวน 1 แห่ง พร้อมด้วยการติดตั้งระบบควบคุมการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางและระบบอื่น ที่จะอำนวยความสะดวกความปลอดภัยให้ครบถ้วนสมบูรณ์ รวมเป็นมูลค่าของโครงการจำนวนประมาณ 16,900 ล้านบาท ส่วนการเวนคืนกรมทางหลวงจะเป็นผู้ดำเนินการโดยใช้เงินงบประมาณ
อนึ่ง ผู้รับจ้างดำเนินโครงการนี้จะต้องเป็นผู้จัดหาแหล่งเงินกู้จากธนาคารหรือสถาบันการเงิน โดยไม่ผูกพันต่อทางราชการ ดำเนินการก่อสร้างโครงการไปพร้อมกับการสำรวจและออกแบบรายละเอียดด้านวิศวกรรม เมื่อได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการเรียบร้อยแล้ว จะต้องส่งมอบงานที่แล้วเสร็จให้กับกรมทางหลวง และกรมทางหลวงจะจ่ายคืนเงินค่าก่อสร้างภายหลังในระยะเวลา 10 ปี
การก่อสร้างทางหลวงวงแหวนกาญจนาภิเษกด้านใต้ นับเป็นส่วนสุดท้ายของทางหลวงวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร หลังจากที่กรมทางหลวงได้ก่อสร้างและเปิดการจราจรทางหลวงวงแหวนด้านตะวันออกและตะวันตกไปแล้ว ซึ่งเมื่อการก่อสร้างทางหลวงวงแหวนแล้วเสร็จครบวงจร ก็จะทำให้ระบบทางหลวงวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครแล้วเสร็จสมบูรณ์ อันเป็นการช่วยลดภาวะความคับคั่งของการจราจรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้เป็นอย่างมาก--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ