กระทรวงเกษตรฯ ออกประกาศใหม่ เข้มข้น บังคับใช้ “ปิดอ่าวไทย” 15 ก.พ. – 15 พ.ค. นี้ หวังฟื้นคืนความสมบูรณ์ปลาทูทะเล

ข่าวทั่วไป Tuesday February 14, 2017 16:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนประกาศปิดอ่าวไทย 15 กุมภาพันธ์ – 15 พฤษภาคม ประจำปี 2560 ประจวบฯ ชุมพร สุราษฎร์ฯ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกประกาศ จำนวน 2 ฉบับ ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 เพื่อปรับปรุงมาตรการที่เกี่ยวข้อง เพิ่มความเข้มข้นขึ้นจากเดิม โดยห้ามอวนติดตาจับปลาทูตลอดช่วงมาตรการปิดอ่าว 3 เดือน และหลังสิ้นสุดมาตรการ 45 วัน ห้ามเรือปั่นไฟประกอบอวนล้อมจับ อวนครอบ อวนช้อนหรืออวนยกปลากะตัก เข้าทำประมงในเขตระยะ 7 ไมล์ทะเล และพิจารณาหาแหล่งเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยช่วยชาวประมง พร้อมกำชับกรมประมงเร่งศึกษาข้อมูลวิชาการให้เสร็จภายใน 1 ปี เพื่อนำมากำหนดมาตรการอีกครั้ง หลังพบประชากรปลาทูในทะเลไทยลดจำนวนลงจนเข้าขั้นวิกฤติ นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากสถิติการตรวจสอบเก็บข้อมูลทางวิชาการ จำนวน และความหลากหลายของชนิดพันธุ์ของสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าในหลายปีที่ผ่านมา ปรากฎว่ามีสัตว์น้ำในกลุ่มปลาทูลดจำนวนลงอย่างมากเมื่อเทียบจากในอดีต ประกอบกับจากการติดตามสภาวะทรัพยากรสัตว์น้ำในแต่ละปีหลังจากมาตรการปิดอ่าว พบว่าลูกพันธุ์สัตว์น้ำที่เกิดขึ้นในช่วงมาตรการและอาศัยอยู่ในแนวชายฝั่งถูกจับขึ้นมาจำนวนมาก ซี่งมาจากด้วยเหตุปัจจัยหลายด้าน ทั้งความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม ความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะระยะหลังมานี้พบว่ามีเรือประมงที่ใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิดที่มีประสิทธิภาพสูงเข้ามาทำการประมงในพื้นที่ ล้วนแล้วแต่เป็นต้นเหตุให้ของการหมดไปของประชากรปลาทูทั้งสิ้น ดังนั้น กรมประมงในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ จึงได้ประชุมหารือผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและชาวประมง เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และเห็นพ้องต้องกันว่าเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูทรัพยากรปลาทู จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 24 มกราคม 2550 บางข้อ เพื่อเป็นการสงวนพ่อ-แม่พันธุ์สัตว์น้ำให้สามารถแพร่พันธุ์ต่อไปได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 71 (1) แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ออกประกาศ ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 จำนวน 2 ฉบับ ซึ่งมีข้อกำหนด ดังต่อไปนี้ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2550 เรื่อง กำหนดห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิดทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ภายในระยะเวลาที่กำหนด เครื่องมือทำการประมงที่ห้ามตามประกาศฉบับนี้ ได้แก่ (1) เครื่องมืออวนลากทุกชนิดที่ใช้ประกอบกับเรือกล ยกเว้นเครื่องมืออวนลากที่ใช้ประกอบกับเรือกลลำเดียวที่ความยาวเรือไม่เกิน 16 เมตร ให้ทำการประมงได้เฉพาะในเวลากลางคืน (ตั้งแต่เวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกและพระอาทิตย์ขึ้น) (2) เครื่องมืออวนติดตาที่ใช้ประกอบกับเรือกลทำการประมงด้วยวิธีล้อมติดปลาทูหรือด้วยวิธีอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน (3) เครื่องมืออวนติดตาทุกชนิดที่ใช้ประกอบกับเรือกลทำการประมง ยกเว้น ก. เครื่องมืออวนติดตาที่ใช้ประกอบกับเรือกลที่วางเครื่องกลางลำไม่มีเก๋ง (หลังคา) ขนาดความยาวเรือไม่เกิน 14 เมตร หรือการใช้เครื่องมืออวนติดตาที่ใช้ประกอบกับเรือยนต์เพลาใบจักรยาว ข. เครื่องมืออวนติดตาที่ใช้ประกอบกับเรือกลและเครื่องมือกว้าน ช่วยในการทำการประมงโดยใช้อวนที่มีขนาดความลึกอวนไม่เกิน 70 ช่องตาอวน ความยาวอวนตั้งแต่ 4,000 เมตร ลงมาในขณะทำการประมงแต่ละครั้ง ทำการประมงในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 15 เมษายน ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม ของทุกปี กรณีใช้อวนตามข้อ ข. วรรคแรกซึ่งมีความยาวอวนเกินกว่า 4,000 เมตร ขึ้นไป ในขณะทำการประมงในแต่ละครั้ง ห้ามใช้เครื่องมือกว้านช่วยในการทำการประมง การนับความยาวอวนให้นับความยาวอวนทั้งหมดรวมกันขณะทำการประมง (4) เครื่องมืออวนล้อมจับทุกชนิดที่ใช้ประกอบกับเรือกลทำการประมง (5) เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ทำการประมงปลากะตัก (6) เครื่องมืออวนรุนที่ใช้ประกอบกับเรือกลที่มีขนาดความยาวเรือเกินกว่า 14 เมตรขึ้นไป ในการวัดขนาดความยาวของเรือกลที่ใช้ประกอบกับเครื่องมือทำการประมง ตามความในประกาศนี้ให้ใช้วิธีการวัดขนาดความยาวเรือตลอดลำ (Length Over All) หรือ (L.O.A.) คือ วัดความยาวเรือทั้งหมด วัดสุดหัวถึงสุดท้าย ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 จำนวน 2 ฉบับ เรื่อง กำหนดห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิดทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ภายในระยะเวลาที่กำหนด ข้อ 1 ให้งดเว้นการใช้บังคับความในข้อ 3 (3) ของประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 24 มกราคม 2550 เป็นการชั่วคราวและให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "(3) เครื่องมืออวนติดตาจับปลาทุกชนิดที่ใช้ประกอบเรือกลทำการประมง ยกเว้นการใช้เครื่องมืออวนติดตาจับปลาที่มีช่องตาอวนตั้งแต่ 2 นิ้วขึ้นไป ที่ใช้ประกอบกับเรือกลที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ทำการประมง" ข้อ 2 ให้ประกาศฉบับนี้สิ้นผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมง วิธีการทำการประมง และพื้นที่ทำการประมง ที่ห้ามใช้ทำการประมง ในที่จับสัตว์น้ำบางแห่ง ข้อ 1 ภายในระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2560 – วันที่ 30 มิถุนายน 2560 ห้ามใช้เครื่องมืออวนทุกชนิดที่ใช้ประกอบเรือกลทำการประมงโดยใช้ประกอบเครื่องปั่นไฟ ทำการประมงในเขตระยะ 7 ไมล์ทะเล นับจากแนวชายฝั่งทะเล ในที่จับสัตว์น้ำบางแห่งของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ยกเว้น การใช้เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรือ อวนยกหมึก ประกอบเครื่องปั่นไฟ ทำประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง ทั้งนี้ หากพบผู้ใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษ 1. ปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า 2. ใช้เรือขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงยี่สิบตันกรอสต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาท ถึงหนึ่งแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า 3. ใช้เรือขนาดตั้งแต่ยี่สิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอสต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า 4. ใช้เรือตั้งแต่ขนาดหกสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอส ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดสูงกว่า 5. ใช้เรือขนาดตั้งแต่หนึ่งร้อยห้าสิบตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าล้านบาทถึงสามสิบล้านบาทหรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดสูงกว่าและต้องรับโทษตามมาตรการทางปกครอง ดังนี้ 1. ยึดสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมงนั้นหรือเครื่องมือทำการประมง 2. ห้ามทำการประมงจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง 3. สั่งพักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดครั้งละไม่เกินเก้าสิบวัน โดยจะสั่งห้ามมิให้ใช้เรือประมงนั้นจนกว่าจะสิ้นระยะเวลาการพักใช้ใบอนุญาตด้วยก็ได้ 4. เพิกถอนใบอนุญาต และประกาศให้เรือประมงนั้นเป็นเรือที่ใช้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 5. กักเรือประมงหรือสั่งให้วางประกัน ในกรณีเรือประมงที่กระทำความผิดเป็นเรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทย อย่างไรก็ตามประกาศกระทรวงเกษตรฯ ปี 2560 จะมีผลบังคับใช้เฉพาะในมาตรการปิดอ่าวไทยรอบปี 2560 เท่านั้น เพื่อที่จะทดลองศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งในระหว่างนี้ กรมประมงจะศึกษาข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับปลาทูให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี โดยในส่วนของชาวประมงผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนและต้องการปรับเปลี่ยนเครื่องมือจะมีการพิจารณาแหล่งเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย ให้กู้รายละไม่เกิน 100,000 บาท และให้ชาวประมงผ่อนชำระเงินกู้ไม่เกินสามงวดชำระหนี้โดยมีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 1 ปี ดังนั้น จึงขอความร่วมมือพี่น้องชาวประมง โปรดปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเครั่งครัด และคอยเป็นหูเป็นตาช่วยเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังการทำประมงผิดกฎหมายเพื่อช่วยกันฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องทะเลไทยให้มีใช้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ กรมประมงได้กำหนดจัดพิธีประกาศปิดอ่าวฝั่งทะเลอ่าวไทย ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 ณ ท่าเทียบเรือเทศบาลตำบลปากน้ำชุมพร ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร จึงขอเชิญชวนประชาชนในพื้นที่ทุกท่านไปร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีดังกล่าว "งดจับปลาฤดูมีไข่ อนุรักษ์ไว้ใช้อย่างยั่งยืน"... อธิบดีกรมประมง กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ