สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 20-24 ก.พ.60 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 27 ก.พ.- 3 มี.ค. 60โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 27, 2017 16:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.พ.--ปตท. สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 56.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 54.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 54.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ด้านราคาเฉลี่ยน้ำมันสำเร็จรูป ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 2.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 68.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 0.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 67.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่ ปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อราคาน้ำมันดิบ · The Joint Organization Data Initiative (JODI) เผยปริมาณการผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย เดือน ธ.ค. 59 ลดลงจากเดือนก่อน255,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 10.47 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบลดลง จากเดือนก่อน 240,000บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 8.01 ล้านบาร์เรลต่อวัน · Reuters รายงานเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 60 ที่ประชุมกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันที่กรุงเวียนนา ระบุว่า Compliance Rate ของผู้ผลิต Non-OPEC 11ประเทศที่มีรัสเซียเป็นแกนนำอยู่ที่ระดับ 66% สูงกว่าที่คาดไว้ที่ 40% · Reuters รายงานผู้ค้าน้ำมันได้ขายน้ำมันดิบจากปริมาณสำรองที่เก็บในเรือลอยลำ (Floating Storage) บริเวณน่านน้ำของสิงคโปร์ มาเลเซียและอินโดนีเซีย ปริมาณรวม 12 ล้านบาร์เรล ในเดือน ก.พ. 60 · Goldman Sachs คงประมาณการณ์อุปสงค์น้ำมันดิบของโลก ปี พ.ศ. 2560 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งสามารถรองรับอุปทานที่เพิ่มขึ้นจาก Shale Oil ในสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วยแรงหนุนจากผู้ผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ มีประสิทธิภาพการผลิตและฐานะทางการเงินดีขึ้น · Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาด ICE ที่ลอนดอนและตลาด NYMEX ที่นิวยอร์ก สัปดาห์สิ้นสุด 21 ก.พ. 60 กลุ่มผู้จัดการกองทุนเพิ่มสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 21,777 สัญญา มาอยู่ที่ 443,703 สัญญา สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ปัจจัยที่ส่งผลลบต่อราคาน้ำมันดิบ · Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 24 ก.พ. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 5 แท่น อยู่ที่ 602 แท่น สูงสุดตั้งแต่ ต.ค. 57 · Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 ก.พ. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนประมาณ 0.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 518.7 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้น 7 สัปดาห์ต่อเนื่อง · EIA รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 ก.พ. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากส่งออกไปยังเอเชียเพิ่มขึ้นมาก · Bloomberg รายงานอินเดียนำเข้าน้ำมันดิบ เดือน ม.ค. 60 ที่ 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ลดลง 9 % ต่อเดือน) เนื่องจากมาตรการยกเลิกการใช้ธนบัตรมูลค่า 500 และ 1,000 รูปี ทั้งนี้ซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบให้อินเดียมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคืออิรัก และอิหร่าน แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยน้ำมันดิบรายสัปดาห์ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากบรรยากาศการลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมันของสหรัฐฯ มีแนวโน้มสดใสเนื่องจากนโยบายของรัฐบาล Trump เกื้อหนุน สร้างความมั่นใจต่อผู้ลงทุนทั้งในภาคการเงินและ สาธารณูปโภค ผลักดันให้สถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTIในตลาด ICE ที่ลอนดอนและตลาด NYMEX ที่นิวยอร์ก สัปดาห์ล่าสุด Net Long Position แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ Reuters รายงานบทวิเคราะห์ Passive Investment Fund หรือการลงทุนที่มุ่งเน้นลงทุนในพันธบัตรหรือตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำเป็นหลัก มูลค่ากว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีการเปลี่ยนแปลงการลงทุนในสัญญาน้ำมันดิบจาก "Far-Term" มาสู่ "Near Term" เนื่องจากมุมมองของนักลงทุนต่ออุตสาหกรรมน้ำมันที่ดีขึ้นหลังจากมาตรการลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศ ผู้ผลิตน้ำมันสัมฤทธิ์ผล ซึ่งจะทำให้ปัญหาปริมาณอุปทานล้นตลาดที่ประสบมาเกือบ 2 ปีกำลังคลี่คลายและเข้าสู่ช่วงปรับสมดุล โดยในการประชุมประจำปีของวงการอุตสาหกรรมน้ำมันที่ลอนดอนหรือ IP Week ทุกคนให้ความสำคัญกับCompliance Rate ของกลุ่มผู้ผลิตเป็นอย่างมาก โดย Energy Aspects คาดการณ์กลุ่ม OPEC และ Non-OPEC จะลดกำลังการผลิตได้ถึง 1.61 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ม.ค. 60 ซึ่งคิดเป็น 94% ของ Compliance Rate อย่างไรก็ตาม Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 6 กอปรกับ EIA รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สัปดาห์ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปริมาณการส่งออกแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน บ่งชี้ถึงศักยภาพการกลับมาของน้ำมันดิบ Shale ในสหรัฐฯ เมื่อราคาปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การกลับมาของ Shale Oil เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อระดับราคาน้ำมัน ทางด้านเทคนิคสัปดาห์นี้ราคาน้ำมันดิบ Brent มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 53.00-57.50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 52.50 - 57.00 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบเคลื่อนไหวที่ 51.50-56.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน ราคาน้ำมันเบนซินรายสัปดาห์ปรับลดลงจากหน่วยงานศุลกากรจีนรายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันเบนซินในเดือน ม.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.3 % อยู่ที่ 5.1 ล้านบาร์เรล และ Reuters รายงานว่า Abu Dhabi National Oil Co. (ADNOC) บริษัทน้ำมันแห่งชาติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เสร็จสิ้นการซื้อน้ำมันเบนซิน ปริมาณรวม 2.0 ล้านบาร์เรล สำหรับส่งมอบเดือน มี.ค. และ เม.ย. 60 แล้ว ทั้งนี้ ระยะที่ผ่านมา การนำเข้าของ ADNOC เพื่อชดเชยจากที่โรงกลั่นน้ำมัน Ruwais 2 (420,000 บาร์เรลต่อวัน) ในประเทศปิดซ่อมแซม เป็นปัจจัยหลักที่หนุนตลาด ด้านปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 22 ก.พ. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.4 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 13.2 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินสัปดาห์สิ้นสุด 18 ก.พ. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.7 ล้านบาร์เรล หรือ 6.8 % อยู่ที่ 11.7 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม อัตราการกลั่นของโรงกลั่นอิสระของจีน 32 แห่ง สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 ก.พ.60 อยู่ที่ระดับ 56.8 % (ลดลงจากเดือนก่อน 2.5 %) ทั้งนี้กำลังการกลั่นของโรงกลั่นอิสระในจีนมีกำลังการกลั่นคิดเป็น 24 % ของกำลังการกลั่นรวมที่ 15 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ The National Agency of Petroleum (NAP) ของบราซิลรายงานปริมาณการบริโภคน้ำมันเบนซินปี พ.ศ. 2559 อยู่ที่ระดับ 753,000 บาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.6 %) นอกจากนั้น EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุด 17ก.พ. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.7 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 256.4 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 65.00-69.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลรายสัปดาห์ปรับเพิ่มขึ้นจาก Petroleum Planning and Analysis Cell ของอินเดียรายงานการส่งออกน้ำมันดีเซล ในเดือน ม.ค. 60 ปริมาณ 13.6 ล้านบาร์เรล (ลดลง 17.1 % ต่อเดือน และ ลดลง 23.2 % ต่อปี) และเอเชียยังคงส่งออก Middle Distillates ไปยังยุโรป ด้านปริมาณสำรองจาก EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 17 ก.พ. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 5.0 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 165.1 ล้านบาร์เรล และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 22 ก.พ. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.1 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 12.6 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 5 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม โรงกลั่นDalian (410,000 บาร์เรลต่อวัน) ของจีนมีแผนส่งออก น้ำมันดีเซลจำนวน 4 เที่ยว ปริมาณรวม 1.49 ล้านบาร์เรล ในเดือน ก.พ. 60 สูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 0.82 ล้านบาร์เรล และสำนักวิจัยด้านพลังงาน FGE รายงานในปี พ.ศ. 2560 ภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชีย แปซิฟิก มีอุปทานน้ำมันดีเซลส่วนเกินปริมาณ 735,000 บาร์เรลต่อวัน และ 844,000 บาร์เรลต่อวัน ตามลำดับซึ่ง FGE คาดว่าผู้ค้าจะส่งออกไปยังยุโรปและเมดิเตอร์เรเนียน ด้านปริมาณสำรองของญี่ปุ่น PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ ในสัปดาห์สิ้นสุด 18 ก.พ. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.4 ล้านบาร์เรล หรือ 3.8 % อยู่ที่ 10.4 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 64.00-68.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ