คำชี้แจงจากไมโครซอฟท์ กรณีละเมิดลิขสิทธิ์โดยเอเทค คอมพิวเตอร์

ข่าวเทคโนโลยี Thursday November 9, 2000 09:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์ เวิลด์วายด์
มร. เคนนี ชุง เจ้าหน้าที่ผ่านกฏหมาย ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่าไมโครซอฟท์กำลังศึกษาทุกช่องทางเพื่อให้มีการพิจารณาอย่างละเอียดในกรณีที่ศาลชั้นฎีกาพิพากษาให้เอเทค คอมพิวเตอร์เป็นผู้ชนะคดีพิพาทเรื่องความผิดเกี่ยวกับพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ยืนหยัดเพื่อคุ้มครองนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญาของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศไทย การให้การคุ้มครองในด้านสิทธิทางเศรษฐกิจและจริยธรรมของอุตสาหกรรมดังกล่าว เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เจ้าของทรัพย์สิน-ทางปัญญาสามารถสร้างสรรค์ผลงาน และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
การละเมิดลิขสิทธิ์ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศไทย บริษัทซอฟต์แวร์ซึ่งได้ลงทุนในการจ้างงาน การทำวิจัย ตลอดจนคู่ค้าทางธุรกิจ ย่อมไม่สามารถแข่งขันกับบุคคลซึ่งละเมิดและจำหน่ายสินค้าที่ไม่มีลิขสิทธิ์ในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนจริงได้
ไมโครซอฟท์จะยังคงทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศไทย สมาคมและหน่วยงานที่ทำงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา หน่วยงานของรัฐ และสถาบันการศึกษาชั้นนำ เพื่อต่อสู้กับการละเมิดลิขสิทธิ์ ตลอดจนหาทางออกในการลดผลกระทบจากการกระทำดังกล่าว
ไมโครซอฟท์เชื่อว่าคำพิพากษาดังกล่าวจะทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์ประสบความยุ่งยากมากขึ้นในอนาคต ในการหาหลักฐานประกอบการฟ้องร้องเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ วิธีการให้นักสืบรวบรวมหลักฐานการลักลอบติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ไม่มีลิขสิทธิ์ลงในเครื่องคอมพิวเตอร์นั้น เป็นการกระทำที่เป็นมาตรฐานซึ่งใช้กันทั่วไปในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ดังนั้น คำพิพากษาจึงอาจมีผลกระทบต่อทั้งอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และเจ้าของลิขสิทธิ์ซึ่งต้องการปกป้องสิทธิของตน
กรณีการที่เอเทค คอมพิวเตอร์จะฟ้องกลับไมโครซอฟท์
ไมโครซอฟท์ยังไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าเอเทคจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ขณะนี้ไมโครซอฟท์กำลังพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ภายใต้กรอบของคำพิพากษาของศาลชั้นฎีกา อย่างไรก็ดี ไมโครซอฟท์จะยังคงดำเนินการเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทฯ และไมโครซอฟท์มุ่งมั่นที่จะให้การสนับสนุนพันธมิตรที่ซื่อสัตย์ในประเทศไทย และเราจะยังคงอยู่เคียงข้างผู้บริโภคและคู่ค้าของเรา เราเชื่อว่าจำเป็นจะต้องให้ความมั่นใจและความเชื่อมั่นกับผู้บริโภคในการซื้อซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ การจำหน่ายซอฟต์แวร์ตามที่ระบุในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธินั้น เป็นการกระทำที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่จะผิดกฏหมายเมื่อ
-จำหน่ายซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่ได้ติดตั้งลงในเครื่องคอมพิวเตอร์อื่นแล้ว
-จำหน่ายซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์โดยไม่ได้มีการมอบเอกสารของแท้ (สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิคู่มือ และแผ่นดิสก์ของแท้ และอื่นๆ) ให้กับผู้ซื้อ
-ทำสำเนาและจำหน่ายซีดี-อาร์บรรจุซอฟต์แวร์
-ดาวน์โหลดหรือเปิดให้ดาวน์โหลดซอฟต์แวร์จากเว็บไซต์ที่ให้บริการดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ได้ฟรีโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
-จำหน่ายซอฟต์แวร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ (ซึ่งมักจะเป็นซอฟต์แวร์ที่ผลิตขึ้นเลียนแบบซอฟต์แวร์ของแท้)
ไมโครซอฟท์จึงต้องดำเนินการคุ้มครองสิทธิเพื่อไม่ให้ตัวแทนจำหน่ายคอมพิวเตอร์ติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ไม่มีลิขสิทธิ์ลงในคอมพิวเตอร์ต่อไป
การดำเนินคดีกับเอเทค คอมพิวเตอร์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และคำพิพากษาของศาลชั้นฎีกา
ศาลชั้นฎีกาได้พิจารณาประเด็นที่ว่า ไมโครซอฟท์มีสิทธิที่จะฟ้องร้องคดีกับบริษัทเอเทค คอมพิวเตอร์หรือไม่ตามกฎหมายอาญา จากหลักฐานข้อเท็จจริงที่ได้นำเสนอต่อศาลฎีกา (ซึ่งได้ระบุในคำพิพากษา) พนักงานของเอเทคได้กระทำการทั้งๆ ที่ทราบว่าซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งลงในคอมพิวเตอร์ซึ่งจำหน่ายให้แก่นักสืบของไมโครซอฟท์นั้นเป็นซอฟต์แวร์ที่ไม่มีลิขสิทธิ์จากไมโครซอฟท์ ในประเทศอื่นๆ ที่ไมโครซอฟท์ได้ดำเนินการเพื่อปกป้องสิทธิของบริษัทฯ นั้น หลักฐานเหล่านี้มีน้ำหนักเพียงพอที่จะพิสูจน์ว่าได้มีการละเมิดสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ ไมโครซอฟท์จะยังคงดำเนินการฟ้องร้องในคดีแพ่งกับผู้ที่ติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ไม่มีลิขสิทธิ์ต่อไป
การพิพากษาคดีเกี่ยวกับเอเทคในศาลอื่น
เอเทค คอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายระบบคอมพิวเตอร์ ถูกดำเนินคดีเนื่องจากติดตั้งซอฟต์แวร์ไมโครซอฟท์วินโดวส์ และไมโครซอฟท์ ออฟฟิศที่ไม่มีลิขสิทธิ์ 2 คดีด้วยกัน คือการฟ้องร้องกับศาลอาญา และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
ในวันที่ 16 ธันวาคม 2542 ไมโครซอฟท์ได้ชนะคดีในศาลอาญา ขณะที่เอเทค ผู้บริหาร และพนักงานขายของบริษัทฯ ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดจริง และต้องถูกปรับเป็นเงิน 400,000 บาท, 2,000,000 บาท และ 150,000 บาท ตามลำดับ นอกจากนี้ ผู้บริหารและพนักงานขายของบริษัทฯ ถูกตัดสินให้ได้รับโทษจำคุก แต่ให้รอลงอาญาไว้ก่อน คดีดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างอุทธรณ์
ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2542 ไมโครซอฟท์ชนะคดีในชั้นศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ โดยที่เอเทคและผู้บริหารคนเดียวของบริษัทฯ ได้ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดจริง และศาลพิพากษาให้จ่ายค่าปรับเป็นจำนวนเงิน 600,000 บาท และ 450,000 บาทตามลำดับ ผู้บริหารของบริษัทฯ ได้รับโทษจำคุกแต่ให้รอลงอาญาไว้ก่อนเช่นกัน ส่วนจำเลยที่สาม คือพนักงานขายของเอเทคไม่ได้มาให้การต่อศาล และได้มีการออกหมายจับกุมพนักงานดังกล่าวแล้ว ซึ่งศาลชั้นฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีเดียวกันนี้ในวันที่ 16 ตุลาคม 2543
นโยบายในการต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ในอนาคต
ในประเทศไทยนั้น ผู้จำหน่ายและผู้ที่พัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ต้องสูญเสียประโยชน์เป็นจำนวนหลายร้อยล้านเหรียญเนื่องจากการละเมิดลิขสิทธิ์ การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์และการจำหน่ายซอฟต์แวร์ลอกเลียนแบบนั้น ทำให้ผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ได้ประโยชน์ ขณะที่เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องเสียประโยชน์
ไมโครซอฟท์จะยังคงมุ่งมั่นในการคุ้มครองตัวแทนจำหน่ายและผู้ค้าปลีกโดยการดำเนินคดีกับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ต่อไป และจะยังคงดำเนินการปกป้องสิทธิ โดยการดำเนินคดีเพื่อไม่ให้ตัวแทนจำหน่ายติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ไม่มีลิขสิทธิ์ลงในคอมพิวเตอร์ต่อไป การดำเนินคดีกับผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของไมโครซอฟท์นั้น ส่วนใหญ่บริษัทฯ ได้รับแจ้งจากผู้บริโภคว่าตัวแทนจำหน่ายได้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ และไมโครซอฟท์จะใช้หลักฐานที่ได้รับจากผู้บริโภคทั่วไปมาอ้างอิงในการดำเนินคดีให้มากขึ้นต่อไป
แถลงข่าวในนาม : บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด
รายละเอียดเพิ่มเติม : ศิริภัทร ภัทรางกูร
บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด
โทร. 266-3300 ต่อ 569
อีเมล์: siripatp@microsoft.com
: รมมุก เพียจันทร์
บริษัท โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์ เวิลด์วายด์ จำกัด
โทร. 632-8300-7
อีเมล์ : rommuk.piachan@ogilvy.com-- จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ