กนอ. มอบรางวัลธงธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมแก่ผู้ประกอบการใน 5 นิคมฯ

ข่าวทั่วไป Monday March 6, 2017 15:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--มาเธอร์ ครีเอชั่น กนอ. มอบรางวัลธงธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมแก่ผู้ประกอบการใน 5 นิคมฯพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดสระบุรี นายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ (22 กพ.60) กนอ. ได้จัดพิธีมอบรางวัลธงธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ประจำปี 2559 (ธงขาวดาวเขียว : Green Star Award) ณ โรงแรมกรุงศรี รีเวอร์ อยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในปี 2559 มีโรงงานที่ผ่านเกณฑ์เข้ารับรางวัลธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย (ธงขาว ดาวเขียว) จำนวน 248 โรงงาน ในพื้นที่ 34 นิคมฯ ทั่วประเทศ โดยนำผลการประเมินศักยภาพการบริหารจัดการ ด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และการรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ในช่วงระยะเวลา 1 ปี ตามเกณฑ์การประเมิน จากคณะทำงานจากหลายภาคส่วนแบบพหุภาคี ได้แก่ กนอ. ผู้พัฒนานิคมฯ ผู้แทนชุมชน ผู้แทนส่วนราชการในพื้นที่ ซึ่งมีเกณฑ์การตรวจประเมิน 9 ด้าน ดังนี้ การจัดการน้ำ การจัดการกากอุตสาหกรรม การจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการไอระเหยของสารเคมี ความปลอดภัยของสภาพพื้นที่การทำงาน การจัดการอุบัติเหตุ การจัดการพื้นที่สีเขียว การสนับสนุนส่งเสริมชุมชนและการมีส่วนร่วมกับภาคสังคม ตลอดจนการบริหารจัดการตามมาตรฐานสากลอย่างเคร่งครัด สำหรับในวันนี้ กนอ. ได้จัดพิธีมอบธงธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม และใบประกาศเกียรติคุณ (ธงขาวดาวเขียว) ให้แก่โรงงานที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม พื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดสระบุรี รวมจำนวน 11 โรงงาน ในนิคมอุตสาหกรรม 5 นิคมฯ ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า จำนวน 2 โรงงาน, นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จำนวน 3 โรงงาน, นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร จำนวน 2 โรงงาน นิคมอุตสาหกรรมหนองแค จำนวน 3 โรงงาน และนิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย จำนวน 1 โรงงาน มีผู้เข้าร่วมเป็นเกียรติในงานประกอบด้วย ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ คณะกรรมการการตรวจประเมินโรงงาน ผู้บริหาร และพนักงาน กนอ. รวมจำนวนประมาณ 100 คน "กนอ. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม ในการมุ่งเน้นให้มีการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมภายในโรงงาน ซึ่งโรงงานที่เข้ารับการตรวจและผ่านเกณฑ์การประเมินจำนวน 248 โรงงาน เป็นแบบอย่างที่ดีในการนำระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมมาบริหารจัดการที่ได้มาตรฐาน มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ตลอดจนการเชื่อมโยงและสร้างสมดุลระหว่างอุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อมกับสังคม สร้างการยอมรับจากทุกภาคส่วนในระบบการบริหารจัดการที่มีมาตรฐานของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนโดยรอบ ในการพัฒนาอุตสาหกรรม ให้อยู่คู่กับชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป" นายจักรรัฐ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ