นักศึกษาเกษตร มรภ.สงขลา พาเหรดรับรางวัลระดับชาติ

ข่าวทั่วไป Thursday March 9, 2017 12:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--มรภ.สงขลา นักศึกษาคณะเกษตร มรภ.สงขลา ผงาดเวทีระดับชาติ 3 ปีซ้อน คว้ารางวัลชนะเลิศตอบปัญหาวิชาการ ด้านประมง ควบรองชนะเลิศอันดับ 1 ประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีเกษตร จากผลงานอุปกรณ์ช่วยผสมติดผลสละ และรองอันดับ 2 ประกวดนวัตกรรมอาหาร พัฒนาเส้นพาสต้าปราศจากกลูเตนจากแป้งข้าวสังข์หยด ดร.มงคล เทพรัตน์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตัวแทนนักศึกษาคณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา เข้าร่วมแข่งขันทางวิชาการและวิชาชีพทางด้านการเกษตร เครือข่ายเกษตรราชภัฏทั่วประเทศ ครั้งที่ 3 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ซึ่งสามารถทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม กล่าวคือ น.ส.ปวิชญา พงศ์พิริยะปัญญา และ นายชินกร แรกสกุล โปรแกรมวิชาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้รับรางวัลชนะเลิศ แข่งขันตอบปัญหาทางวิชาการด้านการเกษตร ด้านประมง นายวันสมาน หัดมัด และ นายอับดุลฮาเล็ม มะ โปรแกรมวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ที่มี ดร.ภัทรพร ภักดีฉนวน เป็นอาจารย์ผู้ควบคุม ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1ประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตร จากผลงานชุดอุปกรณ์ช่วยผสมติดผลสละ และ น.ส.อามีนา บือราเฮง กับ น.ส.ฮูสนา บาบู โปรแกรมวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร ซึ่งมี อ.ขนิษฐา หมวดเอียด เป็นผู้ควบคุม ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประกวดนวัตกรรมอาหาร จากผลงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์เส้นพาสต้าปราศจากกลูเตนจากแป้งข้าวสังข์หยด สำหรับผลงานชุดอุปกรณ์ช่วยผสมติดผลสละนั้น เป็นการนำวัสดุเหลือใช้มาประยุกต์ เนื่องจากเล็งเห็นว่าเกษตรกรนิยมปลูกสละเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับความต้องการในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะแนวโน้มการส่งออกในประเทศญี่ปุ่น พม่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ ฟิลิปปินส์ แต่การปล่อยให้สละผสมเกสรโดยธรรมชาติทำให้ได้ผลผลิตไม่เต็มที่ ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน เพราะเกสรตัวผู้ของสละไม่แข็งแรง ส่งผลให้เกิดการผสมติดน้อย เกษตรกรจึงนิยมแก้ปัญหาด้วยการนำเอาเกสรตัวผู้ของระกำมาผสม นอกจากนี้ การบานของดอกที่ไม่พร้อมกัน โดยดอกตัวเมียบานในขณะที่ไม่มีละอองเกสรตัวผู้ ทำให้เสียโอกาสในการผสมเกสร สละจึงเป็นผลไม้ที่ต้องจัดการผสมเกสรเพื่อเพิ่มผลผลิต ซึ่งสามารถทำได้โดยเก็บรวบรวมละอองเกสรสำหรับใช้ในการผสมเกสร และช่วยผสมเกสรสละ ดังนั้น นายวันสมาน และ นายอับดุลฮาเล็ม สองนักศึกษา มรภ.สงขลา จึงออกแบบและสร้างชุดอุปกรณ์ช่วยผสมติดผลสละ ประกอบด้วยอุปกรณ์ช่วยเก็บเกสรตัวผู้ที่มีการทำงานโดยการสั่นเพื่อเขย่าให้ละอองเกสรร่วงหล่นลงมาในภาชนะรองรับ สำหรับใช้ในการเก็บรวบรวมละอองเกสรตัวผู้ไว้ผสมกับเกสรตัวเมียให้ได้จำนวนมากที่สุด และ อุปกรณ์ช่วยผสมเกสรสละที่มีการทำงานโดยการปั๊มลมเพื่อเป่าให้ละอองเกสรตัวผู้ปลิวออกไปผสมติดกับเกสรตัวเมียได้ทั่วทั้งช่อดอก โดยนำวัสดุที่เหลือใช้มาประยุกต์เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและเกิดประโยชน์ใช้สอยสูงสุด ส่วนผลงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์เส้นพาสต้าปราศจากกลูเตนจากแป้งข้าวสังข์หยด ของ น.ส.อามีนาและ น.ส.ฮูสนา มีที่มาจากการเล็งเห็นว่า หนึ่งในบรรดาพันธุ์ข้าวเพื่อสุขภาพคือ ข้าวสังข์หยด ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ได้แก่ โปรตีน ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ และเส้นใยอาหาร พาสต้า (Pasta) เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นเส้นและมีความยืดหยุ่น ใช้แป้งสาลีเป็นส่วนผสมหลักในการผลิต แต่กลูเตนเป็นสารก่อภูมิแพ้ทำให้ผู้ป่วยที่แพ้กลูเตนไม่สามารถรับประทานอาหารประเภทนี้ได้ จึงทำให้อาหารที่ปราศจากกลูเตนเป็นที่นิยมและมีแนวโน้มว่าจะเป็นที่นิยมมากขึ้นทั่วโลก จึงทำให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากแป้งชนิดต่างๆ ที่ปราศจากกลูเตนเป็นที่สนใจมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่แพ้สารกลูเตน โดยมีการนำแป้งปราศจากกลูเตนที่ได้จากธัญพืชต่างๆ มาใช้ทดแทนแป้งสาลี ได้แก่ แป้งข้าว แป้งมันฝรั่ง แป้งถั่ว เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม การทดแทนแป้งชนิดต่างๆ ในผลิตภัณฑ์จะส่งผลต่อคุณลักษณะทางประสาทสัมผัสและคุณภาพการปรุงสุกของเส้นพาสต้าที่ได้ ดังนั้น จึงมีการศึกษาการปรับปรุงเส้นพาสต้าปราศจากแป้งกลูเตน โดยเติมไฮโดรคอลลอยด์ที่มีคุณสมบัติเพิ่มความคงตัว ปรับปรุงลักษณะเนื้อสัมผัสให้ดีขึ้น ทำให้เส้นพาสต้านุ่ม ไม่แห้ง แข็ง และกระด้าง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ