กรมประมง...หนุนนโยบาย ก.เกษตรฯ เร่งนำร่องเปิดธนาคารสินค้าประมงยกระดับสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนเกษตรกร

ข่าวทั่วไป Thursday March 9, 2017 14:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--กรมประมง นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่ากรมประมงได้จัดทำโครงการธนาคารผลผลิตเกษตรด้านการประมง เพื่อร่วมขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการบริหารจัดการผลผลิตทางการเกษตรเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเกษตรกร โดยในส่วนของกรมประมงมีเป้าหมายที่จะดำเนินการจัดตั้งธนาคารผลผลิตเกษตรด้านการประมง ซึ่งจะนำร่องในเขตพื้นที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือภายในปี พ.ศ. 2560 จำนวนทั้งสิ้น 20 ธนาคาร ใน ๒0 ชุมชน ของ 20จังหวัด ประกอบด้วย 7 จังหวัดในภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย ลำปาง ลำพูน ตาก พะเยา กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ และใน 13 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดสกลนคร นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ นครพนม บุรีรัมย์ บึงกาฬ มุกดาหาร ยโสธร และอำนาจเจริญ เพื่อให้ชุมชนเกษตรกรในแต่ละพื้นที่มีความเข้มแข็งและสามารถบริหารจัดการผลผลิตทางการเกษตรด้านการประมง ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยอาศัยแหล่งน้ำชุมชนเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการ เน้นให้ความรู้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแก่ชุมชน ซึ่งสามารถรองรับความต้องการบริโภคอาหารสัตว์น้ำของชุมชน และสร้างรายได้เพื่อความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชนเกษตรกรได้ต่อไป ในระยะแรกกรมประมงได้มีการคัดเลือกแหล่งน้ำเป้าหมาย พร้อมจัดประชุมประชาคมชุมชนที่เกี่ยวกับโครงการฯ การคัดเลือกแต่งตั้งคณะกรรมการธนาคารและเตรียมแหล่งน้ำเพิ่มอาหารธรรมชาติ อนุบาลและปล่อยสัตว์น้ำจืดเพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำเป้าหมาย โดยจะสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้แก่ชุมชน ประกอบด้วยพันธุ์สัตว์น้ำจืด อาทิ ปลาสวาย ปลายี่สกเทศ ปลาจีน ปลานวลจันทร์เทศ ปลาตะเพียน ปลานิล และกุ้งก้ามกราม ฯลฯ รวมทั้งอาหารที่ใช้อนุบาลสัตว์น้ำก่อนปล่อยด้วย และเมื่อมีผลผลิตสัตว์น้ำเกิดขึ้นในแหล่งน้ำชุมชนแล้วจะมีการบริหารจัดการผลผลิตแบบหุ้นส่วนในรูปแบบระบบธนาคาร มีการปันผลประโยชน์ร่วมกันผ่านกลไกความร่วมมือ การประสานงานและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพจากคณะกรรมการธนาคารในชุมชนเป้าหมาย ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนและสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า จากการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าวคาดว่าจะสามารถผลิตอาหารโปรตีนจากสัตว์น้ำได้ไม่ต่ำกว่า 200 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งจะทำให้ชุมชนมีความมั่นคงทางอาหารมากยิ่งขึ้นประชาชนมีรายได้เสริม มีอาหารโปรตีนประเภทปลาพอเพียงต่อการบริโภค อีกทั้งมีการใช้แหล่งน้ำชุมชนเพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้ชุมชนเกษตรกรมีความเข้มแข็งสามารถบริหารจัดการผลผลิตการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ