แพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ประสบความสำเร็จทำเด็กหลอดแก้ว

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday July 4, 2000 17:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--โรงพยาบาลธรรมศาสตร์
แพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ประสบความสำเร็จทำเด็กหลอดแก้ว ด้วยวิธี PESA+ICSI+Blastocyst คลอดเป็นรายแรกของประเทศไทย แพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ประสบความสำเร็จในการทำเด็กหลอดแก้วจากคู่สมรสที่ฝ่ายชายเป็นหมัน ด้วยการผสมผสานเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดคือ การเจาะดูดตัวเชื้ออสุจิจากท่อพักอสุจิ ในถุงอัณฑะ (PESA) นำมาช่วยปฏิสนธิกับไข่โดยเทคนิคอิ๊คซี่ (ICSI) แล้วนำมา เพาะเลี้ยงตัวอ่อนโดยวิธีบลาสโตซิส (Blastocyst) ทำการย้ายฝากตัวอ่อนเข้าสู่ โพรงมดลูก จนกระทั่งมารดาตั้งครรภ์และคลอดออกมาอย่างแข็งแรงและปลอดภัย เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2543 ที่ผ่านมา นับเป็นรายแรกๆ ของประเทศไทย ที่ทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธีนี้สำเร็จ
นายแพทย์ สวัสดิ์ ไตรตรึงษ์ทัศนา แพทย์สาขาสูติ-นรีเวช โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยถึงการใช้ เทคโนโลยีล่าสุดในการทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธีเพาะเลี้ยงตัวอ่อนแบบ Blastocyst ว่าเป็นวิธีเพาะเลี้ยงตัวอ่อนที่ได้จากการปฏิสนธิระหว่างไข่และตัวอสุจิ เป็นระยะเวลา 5 วัน ซึ่งจะยาวนานกว่าวิธีการเพาะเลี้ยงแบบเดิมคือ 3 วันก่อนทำการย้ายฝากตัวอ่อน ซึ่งวิธีแบบ Blastocyst นี้ทำให้สามารถย้ายฝากตัวอ่อนในระยะที่เหมาะสม กับการฝังตัวในผนังมดลูกมากขึ้น ทำให้มีอัตราความสำเร็จของการตั้งครรภ์สูงกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าวิธีเดิมที่มารดามีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 20-30 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น โดยที่หน่วยผู้มีบุตรยากของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้ใช้วิธีนี้ กับคู่สมรสที่มีบุตรยากมาแล้ว 25 ราย นับตั้งแต่เปิดหน่วยนี้ขึ้นมาในโรงพยาบาล เมื่อเดือนสิงหาคม 2542 มีคนไข้ที่ใส่ตัวอ่อนแล้วจำนวน 18 ราย พบการตั้งครรภ์ 8 ราย และเพิ่งคลอดออกมา 2 ราย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รายแรกที่คลอดเป็นทารกเพศชาย น้ำหนักประมาณ 1,980 กรัม รายที่ 2 เป็นทารกเพศหญิงน้ำหนัก 2,200 กรัม สุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ทั้ง 2 ราย
นายแพทย์ สวัสดิ์ ไตรตรึงษ์ทัศนา กล่าวต่อไปว่า "ในคู่สมรสรายแรก สามีอายุ 47 ปี ตรวจไม่พบตัวเชื้ออสุจิในน้ำเชื้อเนื่องจากพบว่าท่ออสุจิอุดตัน ฝ่ายภรรยาอายุ 35 ปี มีเยื่อบุพังผืดในอุ้งเชิงกรานเล็กน้อย จึงได้ใช้เทคโนโลยีการทำเด็กหลอดแก้ว หลายเทคนิคร่วมกันคือ นอกจากการใช้วิธีเพาะเลี้ยงตัวอ่อนแบบ Blastocyst แล้ว ยังใช้เทคนิคในการเจาะดูดตัวเชื้ออสุจิจากท่อพักอสุจิในถุงอัณฑะของฝ่ายชายที่เรียกว่า "พีซ่า" (PESA) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ทำได้ยากและได้ตัวอสุจิในปริมาณน้อย หลังจากทำการแยกตัวอสุจิที่ใช้งานได้ออกมาแล้ว จำเป็นต้องนำตัวอสุจิมาช่วยปฏิสนธิ กับไข่โดยเทคนิค"อิ๊คซี่" (ICSI) คือใช้เข็มดูดเชื้ออสุจิมา 1 ตัว แล้วฉีดเข้าไปในฟองไข่ 1 ใบ เพื่อช่วยให้เกิดการปฏิสนธิ แล้วเลี้ยงตัวอ่อนจนถึงระยะบลาสโตซิส (Blastocyst) ก่อนทำการย้ายตัวอ่อนเข้าสู่ครรภ์มารดาต่อไป" ซึ่งคนไข้ที่มาทำเด็กหลอดแก้ว ที่ใช้เทคนิคร่วมกันทั้ง 3 วิธีดังกล่าว ในประเทศไทยยังมีจำนวนน้อยรายที่สามารถ เลี้ยงตัวอ่อนได้จนถึงระยะบลาสโตซิส เนื่องจากตัวอสุจิที่ได้จากการเจาะดูด จากท่อพักน้ำอสุจิ มีความพร้อมในการปฏิสนธิน้อยกว่า ตัวเชื้ออสุจิที่ได้จากการหลั่ง ออกมาตามธรรมชาติ
แพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวในตอนท้ายว่า ความสำเร็จจาก การใช้เทคโนโลยีดังกล่าว เป็นเรื่องที่ยากและจำเป็นต้องอาศัย เครื่องมือที่มีเทคโนโลยีสูง ห้องปฏิบัติการและระบบการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนที่มีคุณภาพสูง ตลอดจนความร่วมมือ ของทีมงาน แพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ไม่เพียงจะมีชื่อเสียงในด้านการเมืองการปกครอง และทางด้านสังคมศาสตร์เท่านั้น ปัจจุบันยังสามารถพัฒนา ผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์ โดยใช้เทคโนโลยีร่วมสมัยจนประสบความสำเร็จดังกล่าว--จบ--
-นศ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ