กทม.ผนึกกำลังกรมชลประทานพร้อมรับมือน้ำท่วมปีนี้

ข่าวทั่วไป Thursday July 5, 2001 10:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ก.ค.--กทม.
กทม.ผนึกกำลังกรมชลประทานพร้อมรับมือน้ำท่วมปีนี้ ร่วมตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจรับมือน้ำท่วม
ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการประชุมความร่วมมือการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำท่วมปี 2544 ระหว่างผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ซึ่งนำโดย นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะพร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปลัดกรุงเทพมหานคร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักระบายน้ำ และผู้อำนวยการเขต กับคณะผู้บริหารของกรมชลประทาน ซึ่งนำโดย นายกิจจา ผลภาษี อธิบดีกรมชลประทาน ที่กรมชลประทาน เมื่อวานนี้ (3 ก.ค.44) ว่า ทั้งสองหน่วยงานได้แลกเปลี่ยนและรับทราบแผนงานในการเตรียมการป้องกันน้ำท่วมต่อกัน และเพื่อเป็นแนวทางประสานความร่วมมือกัน จึงจะมีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อร่วมกันวางแผนและเป็นหน่วยงานเฉพาะกิจในการปฏิบัติการงานการป้องกันน้ำท่วม รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในสัปดาห์หน้านี้
กรมชลประทานพร่องน้ำเขื่อนป่าสักฯ รอรับฝนหลาก
ด้านนายกิจจา ผลภาษี อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้ทุกพื้นที่ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมชลประทานได้เตรียมความพร้อม โดยการตรวจสอบความพร้อมการใช้งานของคันกั้นน้ำ อาคารชลประทานและสถานีสูบน้ำ การพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำและในทุ่งรองรับน้ำฝน การขุดลอกและกำจัดวัชพืชในคลองทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อสามารถรายงานสถานการณ์ให้ประชาชนและหน่วยงานราชการทราบอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะได้เตรียมความพร้อมในการรองรับปริมาณน้ำในลุ่มแม่น้ำป่าสักซึ่งมักจะไหลหลากในช่วงเดือน ส.ค. — ต.ค. โดยการควบคุมการเก็บน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ให้เหลือ 350 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังสามารถรับน้ำได้อีก 510 ล้านลูกบาศก์เมตร และจะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบต่อพื้นที่บริเวณเหนือเขื่อน และท้ายเขื่อน ตลอดจนราษฎรที่อาศัยริมแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
ทั้งนี้ประชาชนและหน่วยงานราชการต่าง ๆ สามารถรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสภาพน้ำและสถานการณ์น้ำ เพื่อเตือนภัยให้ประชาชนได้รับทราบ โดยติดต่อข้อมูลได้ที่ศูนย์เฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ห้องประชุมชั้น 3 กรมชลประทาน สามเสน โทรศัพท์/โทรสาร 02-669-5051-56 และ Email : Omd 0301 @ Mail.rid.go.th
กทม.พร้อมรับสถานการณ์ 24 ช.ม.
ด้านนายธงชัย กลั่นกรอง ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม.กล่าวว่า ขณะนี้ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ มีความพร้อมรับสถานการณ์ในช่วงฤดูฝนแล้ว โดยที่ผ่านมาได้ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ขุดลอกคูคลอง เปิดทางน้ำไหลให้สะดวก สร้างสถานีสูบน้ำหลัก 97 แห่ง กำลังสูบ 1,076 ลบ.ม/วินาที และจุดสูบน้ำย่อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในบริเวณจุดอ่อนน้ำท่วม 160 แห่ง พร้อมทั้งเตรียมหน่วยปฏิบัติการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ตลอด 24 ช.ม. ส่วนการป้องกันน้ำหนุนนั้น ได้สร้างคันกั้นน้ำถาวรแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา และริมฝั่งคลองเขต กทม. ความยาว 82.9 กม. ขณะนี้สร้างเสร็จแล้ว 35 กม. ส่วนที่ยังไม่แล้วเสร็จจะสร้างคันกั้นน้ำชั่วคราว โดยการวางกระสอบทรายเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อย่างไรก็ดีทั้งหมดจะแล้วเสร็จตามแผนงานในปี 2547
สำหรับพื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ กทม.ได้ประสานความร่วมมือกับกองบัญชาการทหารสูงสุด กรมชลประทาน กรมทางหลวง จังหวัดสมุทรปราการ และสนามบินหนองงูเห่า ในการปฏิบัติการป้องกันน้ำในทุ่งตะวันออกตอนเหนือของพื้นที่กรุงเทพมหานคร ไม่ให้ไหลเข้ามาในแนวคันกั้นน้ำพระราชดำริ และเร่งระบายน้ำภายในพื้นที่ลงสู่ใต้ เพื่อระบายน้ำออกสู่ทะเลให้รวดเร็ว โดยกรมชลประทานให้ความร่วมมือในการควบคุมปิด — เปิด ประตูระบายน้ำ ลดระดับน้ำนอกคันไม่ให้มีระดับสูง
ส่วนพื้นที่ด้านตะวันตก ด้านฝั่งธนบุรีนั้น กทม.ได้ประสานความร่วมมือกับกรมชลประทานอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ซึ่งบริเวณดังกล่าวปัจจุบันเป็นสถานที่ปิดล้อม 450 ตร.กม. มีประตูระบายน้ำของกรมชลประทานอยู่ 6 แห่ง ได้รับความร่วมมือ ในการควบคุม เปิด — ปิด ประตูระบายน้ำดังกล่าว ป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ฝั่งธนบุรี อันเนื่องจากน้ำทะเลหนุนได้ นอกจากนี้ทั้งสองหน่วยงานจะได้ร่วมกันวางแผนงานในการดำเนินโครงการแก้มลิงคลองมหาชัย — สนามชัย โครงการแก้มลิงฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ฯลฯ ซึ่งเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริ
คนกรุงมั่นใจสถานการณ์น้ำท่วมไม่น่าวิตก
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างกทม.และกรมชลประทานในครั้งนี้จะเป็นการให้ความมั่นใจกับประชาชนได้ว่า สถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนนี้จะไม่น่าวิตกและสามารถรับมือได้ ขณะนี้เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์พร้อมรับน้ำได้อย่างเต็มที่ ถ้าฝนลงมาเหนือเขื่อนป่าสักก็จะกักน้ำได้หมดโดยไม่กระทบกับกรุงเทพฯ แต่ถ้าฝนตกบริเวณใต้เขื่อนลงมากรมชลประทานจะช่วย กทม.โดยการผันน้ำเข้าทุ่งออกทะเลทางแม่น้ำบางปะกง โดยไม่ให้เดือดร้อนประชาชนและเกษตรกร ส่วนการประสานความร่วมมือกันดูแลพื้นที่ด้านตะวันตก โดยการควบคุมปิด-เปิด ประตูระบายน้ำ และโครงการแก้มลิง จะช่วยแก้ปัญหานำทะเลหนุน และน้ำเน่าเสียได้ ทั้งนี้หากฝนตกลงมาปริมาณไม่เกิน 60 มิลลิเมตร/ชั่วโมง จะสามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้ทันที แต่หากปริมาณน้ำฝนมากกว่า 60 มิลลิเมตร/ชั่วโมง อาจจะต้องรอการระบายประมาณครึ่งชั่วโมง - 1 ชั่วโมงครึ่ง จึงจะแห้ง--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ