ปภ. ประสานจังหวัดเตรียมรับมือพายุฤดูร้อนจากสภาพอากาศแปรปรวน ช่วงวันที่ 25 - 29 มีนาคม 2560

ข่าวทั่วไป Tuesday March 28, 2017 12:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานจังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อนในช่วงวันที่ 25 - 29 มีนาคม 2560 ในขณะที่ภาคใต้จะมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด จัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว และวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที รวมถึงสำรวจท่อระบายน้ำ ทางระบายน้ำไม่ให้มีสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง ตลอดจนตรวจสอบสิ่งก่อสร้างและป้ายโฆษณาให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ตัดแต่งกิ่งไม้และต้นไม้ที่เสี่ยงต่อการโค่นล้มบริเวณริมถนนและในพื้นที่ชุมชน เพื่อป้องกันอันตรายจากการล้มทับในช่วงที่มีลมกระโชกแรง นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ประเทศไทยมีสภาวะอากาศแปรปรวน ซึ่งจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับลูกเห็บตกบางพื้นที่ ซึ่งมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ ดังนี้ ช่วงวันที่ 25 – 26 มีนาคม 2560 จะมีพายุฤดูร้อนบริเวณภาคตะวันออก เฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และช่วงวันที่ 27 – 29 มีนาคม 2560 จะเกิดพายุฤดูร้อนเพิ่มมากขึ้น ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่วนภาคใต้จะมีฝนตกหนักบางแห่ง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสานจังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือสภาพอากาศแปรปรวน พายุฤดูร้อน และฝนตกหนักบางพื้นที่ในช่วงวันที่ 25 – 29 มีนาคม 2560 โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญเหตุ อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ทีมกู้ชีพกู้ภัยประจำตำบล ชุดกู้ชีพกู้ภัยทางน้ำและทางทะเล รวมถึงเครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทันทีที่เกิดภัย อีกทั้งสำรวจท่อระบายน้ำ ทางระบายน้ำไม่ให้มีสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง รวมถึงตรวจสอบสิ่งก่อสร้างในพื้นที่สาธารณะและป้ายโฆษณาให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ตัดแต่งกิ่งไม้และต้นไม้ที่เสี่ยงต่อการโค่นล้มบริเวณริมถนนและในพื้นที่ชุมชน เพื่อป้องกันอันตรายจากการล้มทับ พร้อมแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากสภาพอากาศแปรปรวน โดยดำเนินการผ่านวิทยุกระจายเสียง เสียงตามสาย หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน เครือข่ายวิทยุสมัครเล่น สถานีโทรทัศน์ เคเบิ้ลทีวี และสื่อสังคมออนไลน์ สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด จัดเก็บสิ่งของที่ปลิวลมได้ในที่มิดชิด ดูแลสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง โดยเฉพาะต้นไม้ที่เสี่ยงต่อการหักโค่น เมื่อเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ให้หลบเข้าไปอยู่ในอาคารหรือบ้านเรือนที่มั่นคงแข็งแรง ปิดประตูและหน้าต่างให้มิดชิด เพื่อป้องกันแรงลมพัดสิ่งของเข้ามาในบ้าน ไม่หลบใต้ต้นไม้ใหญ่ใกล้ป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้า หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง รวมถึงไม่เข้าใกล้บริเวณที่เป็นโลหะ ไม่สวมใส่เครื่องประดับประเภทเงิน ทอง นาค รวมถึงงดเว้นการใช้เครื่องมือสื่อสารและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เพื่อป้องกันอันตรายจากการถูกฟ้าผ่า สำหรับเกษตรกรให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบังปกคลุมผลผลิตทางการเกษตร เพื่อป้องกันความเสียหายจากพายุฝนและลมพัดแรงท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนพายุฤดูร้อนสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ