คณะอนุกรรมการจราจรฯ สภากทม. ตรวจความคืบหน้าการก่อสร้างทางลอดใต้ทางแยกท่าพระ

ข่าวทั่วไป Wednesday October 24, 2001 11:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--กทม.
เมื่อวันที่ (22 ต.ค.44) เวลา 10.30 น. บริเวณสถานที่ก่อสร้างทางลอดใต้ทางแยกท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ คณะอนุกรรมการการจราจร ขนส่ง ผังเมือง และระบายน้ำ ชุดที่ 2 สภากทม. นำโดยนายสุรันต์ จันทร์พิทักษ์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางกอกใหญ่ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฯ ได้ตรวจความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางลอดใต้ทางแยกท่าพระ (ถนนจรัญสนิทวงศ์ - ถนนเพชรเกษม) พร้อมรับทราบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน โดยมี นายจักกพันธุ์ ผิวงาม ผู้อำนวยการเขตบางกอกใหญ่ นายประสาน พิทักษ์วรรัตน์ รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายควบคุมการก่อสร้าง 4 สำนักการโยธา และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องร่วมบรรยายสรุปฯ
ทั้งนี้สืบเนื่องจากได้มีประชาชนร้องเรียนต่อสภากทม.ว่า ในการก่อสร้างทางลอดใต้ทางแยกท่าพระฯ ได้มีการรื้อสะพานลอยคนเดินข้ามออกไปทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน การข้ามถนนเป็นไปด้วยความลำบาก ประกอบกับ ทางม้าลายก็ไม่มี ประชาชนเกรงว่าหากสร้างทางลอดใต้ทางแยกท่าพระแล้วเสร็จจะไม่มีทางคนข้าม สำหรับปัญหาดังกล่าวได้รับการชี้แจงว่า บริษัทพรหมวิวัฒน์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับจ้างออกแบบและก่อสร้าง ขณะนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว 50 % แต่ติดปัญหาการรื้อย้ายของหน่วยงานสาธารณูปโภค จึงทำให้ล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด ส่วนการรื้อย้ายสะพานลอยคนเดินข้ามฝั่งด้านถนนรัชดาภิเษกนั้น ได้รื้อย้ายออกไปเป็นการชั่วคราวเนื่องจากต้องใช้พื้นที่ในการก่อสร้าง และจะก่อสร้างให้ ณ จุดใหม่ ใกล้บริเวณแยกท่าพระ และเมื่อโครงการฯเสร็จสิ้นแล้ว จะดำเนินการขีดสีตีเส้นเป็นทางม้าลายให้กับประชาชนได้เดินข้ามเช่นเดิมเพื่อป้องกันอันตรายจากอุบัติเหตุการจราจร ซึ่งโครงการก่อสร้างจะเสร็จสิ้น ประมาณวันที่ 7 ส.ค.45 ทั้งนี้รถทางตรงในถนนจรัญสนิทวงศ์จะใช้ทางลอดใต้ทางแยกท่าพระในขณะที่รถทางตรงในถนนเพชรเกษมจะใช้สะพานยกระดับ ส่วนถนนระดับดินจะรองรับการจราจรที่เลี้ยวซ้ายหรือขวาเท่านั้น โดยมีการประมาณการกันว่าจะลดความล่าช้าในการรอสัญญาณไฟในทิศทางอื่นได้ถึง 60 % ซึ่งจะทำให้เกิดการไหลเวียนของจราจรดีขึ้นเป็นผลให้ลดภาวะจากรถติดลงได้
นอกจากนี้ถนนวงแหวนรัชดาภิเษก - ถนนจรัญสนิทวงศ์ หรือถนนวงแหวนรอบใน เป็นถนนเส้นหลักซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจราจรในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นถนนวงแหวนเส้นที่สมบูรณ์ รองรับปริมาณการจราจรไปสู่ถนนสายต่าง ๆ ในทุกทิศทาง คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก หรือ คจร. จึงได้ให้กรุงเทพมหานครทำการศึกษาเพื่อจัดทำทางลอดใต้ทางแยกเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยแก้ปัญหาการจราจรบริเวณจุดตัด--จบ--
-นห-

แท็ก บางกอก  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ