ปลูกฐานคิดเยาวชนดูแลชุมชนถิ่นเกิด มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)

ข่าวทั่วไป Tuesday April 4, 2017 17:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล จากข้อมูลของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย คาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ.2564 ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ และต่อจากนี้ไปอีก 10 ปี หรือ พ.ศ.2574 ก็จะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super-aged society) นั่นคือมีประชากรวัย 65 ปี ถึงร้อยละ 20 ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นว่าเป็นสถิติที่เร็วมาก ถือเป็นปรากฎการณ์ของผู้สูงอายุที่มีสัดส่วนมากขึ้นเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของประชากรไทย จากข้อมูลดังกล่าวสู่ฐานคิดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมระหว่างกลุ่มแกนนำเด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน และพี่เลี้ยง เพื่อเตรียมความพร้อมให้เยาวชนรุ่นใหม่ในการขับเคลื่อนสังคม โดยใช้ เวทีพิจารณากลั่นกรองโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ปี 3 ที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) นายรุ่งวิชิต คำงาม หัวหน้าโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ กล่าวถึง โครงการพลเมืองดีศรีสะเกษ ปี 3 ว่า สถานการณ์ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้คนในพื้นที่ตื่นตัวกับการแก้ปัญและหาทางออกร่วมกันในชุมชน ดังนั้นการส่งต่อบทบาทและวางรากฐานของการ"สร้างพลเมืองรุ่นใหม่"ให้มีคุณภาพสู่การพัฒนาประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญ การทำงานในโครงการดังกล่าวเป็นการปูฐานคิดให้เยาวชนได้เรียนรู้ทักษะชีวิตที่ฉีกกรอบคิดแบบเดิมๆ สู่การลงมือทำงานเป็นทีม โดยมีชุมชนเป็นห้องเรียน เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้บริบทความเป็นอยู่ของชุมชนตัวเอง หรือการเห็น"ทุกข์และทุน"ของชุมชนที่ตนอาศัยอยู่นั่นเอง "เพราะเราคาดหวังถึงอนาคตด้วยการฝากความหวังกับเยาวชนรุ่นใหม่ให้ช่วยดูแลสังคมศรีสะเกษ ดังนั้น เป้าหมายของเวทีพิจารณากลั่นกรองโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ปี 3 จึงไม่ได้เป็นแค่เวทีพิจารณาว่าโครงการของเยาวชนผ่านหรือไม่ผ่าน แต่การจัดกิจกรรมในเวทีนี้ คือ กระบวนการเสริมทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อให้น้องๆเยาวชนนำปรับใช้ต่อการทำโครงการของตนและการใช้ชีวิตในสังคมต่อไป" รุ่งวิชิต ยังกล่าวอีกว่า โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ปี 3 นอกจากเป็นการขยับการทำงานร่วมกันระหว่างเยาวชนกับผู้ใหญ่ใจดีแล้ว ในปีนี้มีเยาวชนส่งโครงการเข้าร่วมถึง 20 โครงการ นั่นหมายความว่า "เส้นทางการพัฒนาเยาวชนของจังหวัดศรีสะเกษ"เริ่มมีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้มีแนวทางหลัก 4 ประเด็น ได้แก่ 1. การพัฒนาโจทย์ร่วมกันระหว่างเด็กและชุมชน ด้วยการศึกษาข้อมูล วิเคราะห์ปัญหาชุมชนตัวเอง 2.การบริหารจัดการโครงการ โดยการเติมความรู้และสอดแทรกทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 ให้เยาวชนสามารถนำไปสู่การออกแบบการทำงานในโครงการตัวเอง 3. ปฏิบัติการเรียนรู้และสร้างพื้นที่เรียนรู้ด้วยกันอย่างเป็นรูปธรรม และ 4.ถอดบทเรียนและผลิตสื่อเพื่อนำเสนอโครงการสู่สาธารณะ สำหรับปีที่ 3 มีทั้งเยาวชนเก่าจากปีที่1และ 2 ที่ต้องการต่อยอดการทำโครงการให้เข้มข้นโดยเฉพาะประเด็นโครงการด้านสัมมาชีพที่ต้องการให้ผลิตภัณฑ์เป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน ขณะที่เยาวชนกลุ่มใหม่ต้องการเพิ่มศักยภาพงานของตนให้รู้คิดรู้ทำเพื่อชุมชน โดยในปีนี้มีโครงการที่เยาวชนเข้าร่วมทั้งหมด 20 โครงการ แบ่งเป็น 3 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นโครงการด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ได้แก่ 1.โครงการโกนเจา เล่าขาน ตำนานปราสาทตาเล็ง 2.โครงการเยาวชนขามใหญ่ อนุรักษ์ภูมิปัญญา พัฒนาการทอเสื่อกก 3 โครงการเศษผ้าสืบสาน เล่าขานตำนานบ้านดู่ 4.โครงการอนุรักษ์สืบสานการละเล่นกันตรึมพื้นบ้านสานความรู้สู่มือน้อง 5.โครงการสะเองสืบสานจัดกระบวนการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้สู่รุ่นน้องนอกห้องเรียน 6.โครงการย้อนรอยศึกษาสืบสานภะซากวยโทร๊ะอึมเพิ๊ต และ7.โครงการศึกษาเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นการใช้ประโยชน์จากทางมะพร้าว ประเด็นโครงการด้านสัมมาอาชีพ ได้แก่ 1.โครงการสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ของกลุ่มเยาวชนบ้านแสนแก้ว 2.โครงการSpy kids รุ่นใหม่ ถักทอใจสู่ผลิตภัณฑ์ 3.โครงการทอรักร่วมกัน Product สร้างสรรค์แปรรูปผลิตภัณฑ์กอนกวย Sodlaway 4.โครงการไก่ไข่เพื่อการเรียนรู้ 5.โครงการมะพร้าววัยใสสร้างเศรษฐกิจชาวทุ่งมน และ6.โครงการเรียนรู้และทดลองแปรรูปหัวปลาให้เป็นอาหารไก่โดยเยาวชนบ้านดงตาดทองประเด็นโครงการด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 1.โครงการสร้างฐานเรียนรู้สมุนไพรไปร่ตาจู เพื่อการจัดการป่าชุมชน 2.โครงการเยาวชนร่วมใจแก้ไขปัญหาขยะเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชุมชนบ้านกระโพธิ์ 3.โครงการการจัดการพื้นที่และลำห้วยหนองบัวบานเพื่อใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 4.โครงการเยาวชนศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าบุ่งป่าทามเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งอาหารของบ้านเหล่าโดน 5.โครงการยุวชนอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าหนองแสนแสบ 6.โครงการน้ำประปาใสด้วยแรงใจฟ้าผ่าสามัคคี และ 7. โครงการชาสมุนไพรพื้นบ้านสร้างองค์ความรู้ให้กับชุมชน รุ่งวิชิต ยังกล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลา 6 เดือนของการทำโครงการ กระบวนการหนุนเสริมของทีมพี่เลี้ยง มีความสำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากพี่เลี้ยงเป็นกลุ่มคนสำคัญที่จะคอยเชื่อมโยงระหว่างเด็กและชุมชนในทุกมิติผ่านเครื่องมือต่างๆ ทั้งการจัดระบบการทำงาน การเติมทักษะ องค์ความรู้ของบริบทชุมชนในภาพรวม โดยมีผู้รู้และผู้ทรงคุณวุฒิเข้าไปเติมเต็มเป็นระยะๆ เพราะสิ่งสำคัญของโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ปี 3 คือการให้เยาวชนทำงานอย่างมีความสุข สนุกกับการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองไปพร้อมๆกับการยกระดับชุมชนตัวเอง ซึ่งในอนาคตคนรุ่นใหม่เหล่านี้คือกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนชุมชนต่อจากผู้ใหญ่นั่นเอง วันนี้สถานการณ์สังคมสูงอายุคือวาระที่ไม่ควรมองข้าม หากมองในอีกมุมหนึ่งการปูพื้นฐานให้เยาวชนรู้จักบทบาทตัวเอง ก่อนจะก้าวสู่วัยผู้ใหญ่คือโจทย์สำคัญที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ พึงตระหนัก เพราะการเชื่อมร้อยวัยระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ไม่ใช่เรื่องยากหากมีการเสริมทักษะชีวิตบนเส้นทางพลเมืองร่วมกับโจทย์บริบทชุมชนในแบบฉบับของตัวเด็กเอง ที่สำคัญผู้ใหญ่ต้องรู้จักหวะการหนุนเสริมเติมแต่งให้เป็นไปในทิศทางของความมี "สำนึกพลเมือง"จะทำให้เด็กและเยาวชนมีความภาคภูมิใจในชุมชนของตนเอง สู่การวางบทบาทในการพัฒนาชุมชนต่อไป.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ