วธ. เผยผลโพล "วันอนุรักษ์มรดกไทย" ร้อยละ 77 หนุนฟื้นฟู-อนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ ปชช. แนะเผยแพร่ความรู้ จัดการแสดงวัฒนธรรม-ประเพณีพื้นบ้าน

ข่าวทั่วไป Tuesday April 4, 2017 19:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชน และประชาชนในหัวข้อ "วันอนุรักษ์มรดกไทย" สำคัญอย่างไร ช่วงระหว่างวันที่ 8–24 มีนาคม 2560 จากกลุ่มตัวอย่าง 2,810 คน ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน พบว่า ร้อยละ 74.31 ทราบว่าวันที่ 2 เมษายนของทุกปีเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงในการสร้างสรรค์และรักษามรดกของชาติด้านศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้ตกทอดไปสู่คนรุ่นลูกรุ่นหลานและเป็น "วันอนุรักษ์มรดกไทย" ทั้งนี้ผลสำรวจนี้ยังพบว่า เด็ก เยาวชน และประชาชนร้อยละ 76.72 มองว่ามรดกไทยประเภทโบราณสถาน มีความสำคัญมากที่สุด รองลงมาร้อยละ 74.26 โบราณวัตถุ ร้อยละ 63.84 คุณค่าประเพณีไทย/ท้องถิ่น นอกจากนี้ประชาชน ร้อยละ 77.43 มีข้อเสนอแนะว่าโบราณสถาน โบราณวัตถุ เป็นมรดกไทยที่จำเป็นต้องเร่งฟื้นฟูและอนุรักษ์ไว้ รองลงมาร้อยละ 68.20 วิถีชีวิตไทย/พื้นบ้าน และร้อยละ 60.18ประเพณีท้องถิ่น นอกจากนี้ ประชาชนร้อยละ 64.59 ทราบว่า วธ.มีการจัดกิจกรรม เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี 2560 โดยมีการจัดนิทรรศการพิเศษ เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับงานมรดกศิลปวัฒนธรรม ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร รวมทั้ง วธ.โดยกรมศิลปากร ได้จัดกิจกรรมรณรงค์การดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดยเปิดให้เด็ก เยาวชน และประชาชนเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม รวมถึงจัดกิจกรรมรณรงค์ เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวันอนุรักษ์มรดกไทยในระหว่างวันที่ 2-8 เมษายน 2560 นายวีระ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันผลสำรวจได้สอบถามประชาชนเกี่ยวกับกิจกรรมที่ต้องการให้ วธ. จัดขึ้นเป็นพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พบว่า ร้อยละ 66.15 กิจกรรมให้ความรู้ รณรงค์ และเผยแพร่ด้านวัฒนธรรมและประเพณีไทย อาทิ ประเพณีพื้นบ้านในภาคต่างๆ เป็นต้น รองลงมา ร้อยละ 63.39กิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย และศิลปะพื้นบ้านของแต่ละท้องถิ่น อาทิ การจัดแสดงโขนในต่างจังหวัด การแสดงพื้นบ้าน 4 ภาค และการแสดงนาฏศิลป์ไทย เป็นต้น และร้อยละ 42.50 เห็นว่า ควรจัดกิจกรรมส่งเสริมวิถีไทย และการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น อาทิ วิถีชีวิต รณรงค์เรื่องการแต่งการแบบไทยย้อนยุคไทยโบราณ เป็นต้น ส่วนอีกร้อยละ 40.08 เสนอให้จัดกิจกรรมส่งเสริมและอนุรักษ์การขับร้องเพลง เล่นดนตรีไทย และดนตรีไทยร่วมสมัย เช่น การจัดประกวดการแสดงโชว์และร้อยละ 33.57 กิจกรรมพาเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวไทย เช่น การเที่ยวชม การอนุรักษ์ การทำความสะอาดและดูแลรักษาโบราณสถาน เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ