TPIPP ตั้งเป้าสู่ผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า รุกขยายโรงไฟฟ้าใหม่คาดพร้อม COD ไตรมาส 4 ปีนี้ พร้อมลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าดันการเติบโต

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 5, 2017 11:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--เอ็ม ที มัลติมีเดีย บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ หรือ TPIPP ผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวมถึงธุรกิจสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ (NGV) เข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งเป้าเป็นผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ด้านผู้บริหารระบุอยู่ระหว่างขยายโรงไฟฟ้าใหม่อีก 3 โรง คาดเริ่มCOD ได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ ดันกำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มเป็น 440 MW พร้อมลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งในปัจจุบันและติดตั้งเครื่องคัดแยกขยะเพื่อใช้งานที่หลุมฝังกลบของบริษัทจัดการขยะ รวมถึงเตรียมลงทุนซื้อหม้อผลิตไอน้ำ 2 เครื่อง สำหรับใช้สำรองให้แก่โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ ผลักดันการเติบโตอย่างต่อเนื่อง นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานกรรมการ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP เปิดเผยว่า ได้นำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยใช้ชื่อย่อ 'TPIPP' ในการซื้อขาย ซึ่งมั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน หลังจากที่เสนอขายหุ้น IPO จำนวน 2,500 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ บมจ.ทีพีไอ โพลีน เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้น ประชาชนทั่วไปและนักลงทุนสถาบัน ในราคาหุ้นละ 7 บาท โดยบริษัทฯ จะนำเงินส่วนหนึ่งที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ไปใช้ในการขยายธุรกิจและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานรวมถึงนำไปชำระหนี้คงค้าง ทั้งนี้ บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวมถึงธุรกิจสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ (NGV) ที่มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง 'ขยะเป็นศูนย์' หรือ Zero Waste เพื่อที่จะเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าโดยใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและมีประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตไฟฟ้า รวมถึงคำนึงถึงหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม "เรามีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า โดยใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและมีประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตไฟฟ้า ซึ่งเกิดจากการนำขยะจากชุมชนและขยะจากหลุมฝังกลบมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF ที่มีค่าความร้อนสูง เพื่อนำไปใช้ในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า ขณะเดียวกัน เรามีจุดยืนการทำธุรกิจด้วยแนวคิด Clean and Green Energy,Clean Up Country ที่จะช่วยลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจำนวนมากในแต่ละวัน" นายประชัย กล่าว นายภากร เลี่ยวไพรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ TPIPP กล่าวว่า บริษัทฯ มีธุรกิจหลัก 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค ได้แก่ ธุรกิจโรงไฟฟ้าที่มุ่งเน้นโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง โดยมีโรงไฟฟ้าที่ COD แล้ว 4 โรง กำลังการผลิตติดตั้งรวม 150 MW ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ 2 โรง กำลังการผลิตติดตั้งโรงละ 20 MW และ 60 MW รวมเป็น 80 MW ปัจจุบันมี กฟผ. เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจำนวน 73 MW และได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ที่ 3.50 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เพิ่มเติมจากค่าไฟฟ้าพื้นฐาน 7 ปีนับจากวันที่เริ่มซื้อขายไฟฟ้า และมีโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งอีก 2 โรง กำลังการผลิตติดตั้งโรงละ 40 MW และ 30 MW โดยมี บมจ.ทีพีไอ โพลีน เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า พร้อมกันนี้ ยังมีสถานประกอบการผลิตเชื้อเพลิง RDF ที่นำขยะจากชุมชนและขยะจากหลุมฝังกลบมาคัดแยกและแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยปัจจุบันสามารถรับขยะชุมชนเข้าสู่กระบวนการผลิต 4,000 ตันต่อวัน ซึ่งนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF ได้ 2,000 ตันต่อวัน ส่วนธุรกิจหลักกลุ่มที่สองคือธุรกิจสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ (NGV) ภายใต้เครื่องหมายการค้า'ทีพีไอพีแอล' (TPIPL) รวม 12 แห่ง นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีรายได้จากการขายอินทรียวัตถุที่เหลือใช้จากสถานประกอบการผลิตเชื้อเพลิง RDF ให้แก่บริษัท ทีพีไอ โพลีน ชีวะอินทรีย์ จำกัด ในเครือ บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยชีวภาพ โปรไบโอติกส์เพื่อการเลี้ยงสัตว์และการกำจัดสิ่งปฏิกูลในน้ำอีกด้วย กรรมการผู้จัดการใหญ่ TPIPP กล่าวว่า บริษัทฯ อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่อีก 3 โรง คาดว่าจะเริ่ม CODภายในไตรมาส 4 ปีนี้ทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลให้มีกำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มขึ้นอีก 290 MW รวมเป็น 440 MW ประกอบด้วย 1.โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ 70 MW ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะนำกำลังการผลิตติดตั้งไปรวมกับโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง 30 MW เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ 100 MW เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. 2.โรงไฟฟ้าถ่านหิน 150 MW และ 3.โรงไฟฟ้าถ่านหินและพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ 70 MW ที่ออกแบบให้สามารถผลิตไฟฟ้าสำรองป้อนให้โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ 60 MW หรือโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ 70 MW โรงใดโรงหนึ่งในกรณีที่เครื่องจักรชำรุด เพื่อสร้างความมั่นคงในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. อีกทั้งอยู่ระหว่างขยายสถานประกอบการผลิตเชื้อเพลิง RDFให้สามารถรับขยะชุมชนเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 ตันต่อวัน จากเดิม 4,000 ตันต่อวัน ซึ่งจะนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF เพิ่มขึ้นเป็น3,000 ตันต่อวัน จากเดิม 2,000 ตันต่อวัน นอกจากนี้ ยังมีแผนปรับปรุงโรงไฟฟ้าในปัจจุบัน ได้แก่ โครงการปรับปรุงโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งเพื่อเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตไฟฟ้า และโครงการติดตั้งเครื่องคัดแยกขยะเบื้องต้นเพื่อใช้งานที่หลุมฝังกลบของบริษัทจัดการขยะ ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณภาพขยะที่จัดส่งให้ TPIPP คาดว่าทั้ง 2 โครงการจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 ปีนี้ รวมถึงมีโครงการลงทุนซื้อหม้อผลิตไอน้ำที่ใช้เชื้อเพลิง RDF อีก 2 เครื่อง เพื่อสำรองให้กับโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ 60 MW และโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ 70 MW ในกรณีที่ต้องหยุดซ่อม คาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการได้ภายในไตรมาส 1 ปี2561 นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า ธุรกิจของ TPIPP มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี เนื่องจากอยู่ระหว่างการขยายโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 3 โรง ซึ่งจะส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานในอนาคต ประกอบรัฐบาลไทยมีนโยบายให้การส่งเสริมธุรกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ที่เป็นส่วนสำคัญในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศและเป็นส่วนสำคัญที่จะลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานซึ่งเป็นเป้าหมายของประเทศ รวมถึงยังได้รับปัจจัยหนุนจากแนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศระหว่างปี 2557-2579 ที่คาดว่าจะเพิ่มในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 2.7 ต่อปี นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าของ TPIPP มีจุดเด่นและความได้เปรียบในเชิงการแข่งขัน โดยมีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการขยะ ตลอดจนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมในการคัดแยกขยะในประเทศไทย และสามารถนำมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF ที่ให้ค่าความร้อนสูง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า นอกจากนี้ TPIPP ยังได้รับประโยชน์จากการจัดหาความร้อนทิ้งในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ และการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ บมจ.ทีพีไอ โพลีน ในฐานะบริษัทแม่อีกด้วย นายสุชาย สุทัศน์ธรรมกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า TPIPP เป็นบริษัทฯ ที่มีศักยภาพการเติบโตที่ดี เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจด้านโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะและโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเครือข่ายผู้จัดหาขยะ โดยในปี 2559 TPIPP มีผลการดำเนินงานเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมีกำไรสุทธิ 1,824.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 270% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 493.36 ล้านบาท และมีรายได้รวม 4,433.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58.62% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีรายได้รวม 2,794.83 ล้านบาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ