กรมโรงงานฯ โชว์ความสำเร็จโรงงานไทย รับหน้าร้อน สามารถปรับกระบวนการผลิตไปใช้สาร HFC-32 พร้อมคาดโรงงานไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เทียบเท่า การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์1.7 ล้านตันต่อปี

ข่าวทั่วไป Wednesday April 5, 2017 16:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) โชว์กระบวนการผลิตเครื่องปรับอากาศใช้สารทดแทนHFC-32 ที่สามารถลดการทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 1.7 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี พร้อมประกาศความสำเร็จผู้ประกอบการเครื่องปรับอากาศไทยที่ประสบความสำเร็จในการใช้ HFC-32 สามารถเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานได้ดีกว่าเครื่องปรับอากาศที่ใช้สาร HCFC-22 และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่บริษัทผลิตเครื่องปรับอากาศข้ามชาติ ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทยหันมาปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีดังกล่าวไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ กรอ. ได้ดำเนินโครงการลดและเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFCs) ผ่านความร่วมมือกับธนาคารโลก โดยตั้งเป้าให้ประเทศไทยสามารถลดปริมาณการใช้สาร HCFCs มากกว่า 2,600 เมตริกตันในภาคอุตสาหกรรมผลิตเครื่องปรับอากาศและภาคอุตสาหกรรมผลิตโฟม สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจข้อมูลต่างๆ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักสนธิสัญญาและยุทธศาสตร์ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทร. 02202-4228, 4104 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th ดร.อนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า สารทำความเย็นสำหรับเครื่องปรับอากาศบ้านที่ใช้กันในปัจจุบัน คือ สาร HCFC-22 ซึ่งเป็นสาเหตุในการทำลายชั้นโอโซนของโลก ทั้งยังก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก และเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ เกิดผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร และเกิดความเปลี่ยนแปลงต่อระบบนิเวศวิทยา ทั้งนี้ที่ผ่านมากรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการในการเลิกใช้สาร CFCs ในการผลิตตู้เย็นที่ใช้ในบ้านเรือน ตู้เย็น ตู้แช่ที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ แอร์รถยนต์โฟม กระป๋องสเปรย์ และสารเฮลอนในภาคอุตสาหกรรมผลิตถังดับเพลิงแบบหูหิ้ว ให้ปรับเปลี่ยนไปใช้สารทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถเลิกการใช้สาร CFCs และสารเฮลอน ในทุกภาคอุตสาหกรรมได้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 เป็นต้นไป สำหรับสาร HCFCs นั้น ประเทศไทยยังคงสามารถใช้ได้อยู่ แต่จะต้องควบคุมให้เป็นไปตามพันธกรณีของพิธีสารมอนทรีออล ที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก ดร.อนงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยได้รับเงินสนับสนุนแบบให้เปล่าเป็นจำนวน 23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับดำเนินโครงการลดและเลิกการใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFCs Phase-out Project ) จากกองทุนพหุภาคีภายใต้พิธีสารมอนทรีออลผ่านธนาคารโลก วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ คือ ช่วยให้ประเทศไทยสามารถลดปริมาณการใช้สาร HCFCs มากกว่า 2,600 เมตริกตันในภาคอุตสาหกรรมผลิตเครื่องปรับอากาศและภาคอุตสาหกรรมผลิตโฟม ซึ่งโครงการนี้นับว่ามีความสำคัญต่อประเทศไทยที่จะต้องดำเนินการลดปริมาณการใช้สาร HCFCs โดยตั้งเป้าในปีพ.ศ.2561 จะมีการลดใช้สาร HCFCs ลดลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 จากค่าพื้นฐาน ซึ่งมีปริมาณประมาณ 15,000 เมตริกตัน ทั้งนี้ ภายใต้โครงการดังกล่าว ประเทศไทยได้จัดสรรเงินสนับสนุนเป็นจำนวน 9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากจำนวน 23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการผลิตเครื่องปรับอากาศของไทยจำนวน 11 รายในการเลิกใช้สาร HCFC-22 และปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีกระบวนการผลิตไปใช้สารทดแทนอื่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ เป็นสารทดแทนที่ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน และมีผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนต่ำ นอกจากนี้ยังได้รับการผลักดันและความร่วมมือจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่ได้ให้การสนับสนุนต่อเทคโนโลยีการใช้สารทำความเย็น HFC-32 และความรู้ที่เกี่ยวข้องจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยีดังกล่าวมาเผยแพร่ ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการล้วนแล้วแต่ยืนยันว่าการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตเครื่องปรับอากาศมาใช้สารทำความเย็น HFC-32 ในครั้งนี้ สามารถประหยัดพลังงานได้ถึงร้อยละ 8-12 และเพิ่มความสามารถในการทำความเย็นได้ถึงร้อยละ 5 – 10 เมื่อเทียบกับเครื่องปรับอากาศที่ใช้สาร HCFC-22 ซึ่งส่งผลต่อการลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการอีกด้วย ทั้งนี้ความสำเร็จจากการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการไทยยังได้สร้างความเชื่อมั่นให้แก่บริษัทผลิตเครื่องปรับอากาศข้ามชาติที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยให้หันมาปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีสารทำความเย็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งนี้โครงการดังกล่าวตั้งเป้าช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 1.7 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ด้านผู้ประกอบการหนึ่งในผู้ร่วมโครงการ นายไพรัตน์ เอื้อชูยศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี.พี.เจ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศสตาร์แอร์ ซึ่งได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศของไทยถือได้ว่าเป็นฐานการผลิตหลักและสำคัญของโลกที่มีการแข่งขันกันมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่มีกำลังการผลิตที่สูงขึ้น ยิ่งต้องใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็เล็งเห็นถึงความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมเช่นกัน จึงได้เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตเครื่องปรับอากาศ ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่สนับสนุน ช่วยเหลือทางด้านการเงินและเทคโนโลยีให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวความรู้การปรับเปลี่ยนใช้สารทดแทน HFC-32 เพื่อลดการทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน โดยเข้าร่วมโครงการมาแล้วกว่า 3 ปี นอกเหนือจากความสามารถของบริษัทในการผลิตเครื่องปรับอากาศที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น บริษัทสามารถเพิ่มขีดความสามารถทางการการค้า เนื่องจากบริษัทสามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศรายใหญ่อันดับสองของประเทศจีน ในการตัดสินใจให้เราผลิตเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็น HFC-32 เพื่อส่งไปขายในประเทศจีนอีกด้วย ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตทั้งในด้านการค้า และการมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่สำนักสนธิสัญญาและยุทธศาสตร์ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โทร 0 2202-4228, 4104 หรือสอบถามข้อมูลโครงการอื่นๆของกรมโรงงานอุตสาหกรรม โทร.0 2202 4014หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th หรืออีเมล์ pr@diw.mail.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ