กระทรวงเกษตรฯ มุ่งหวังเพิ่มคุณภาพและมาตรฐานของนมโรงเรียนให้สูงขึ้น พร้อมจัดสรรโควตาให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใสกับผู้ประกอบการ เพื่อประโยชน์แก่นักเรียน เกษตรกร และสหกรณ์

ข่าวทั่วไป Wednesday April 5, 2017 17:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้กำหนดแผนงานให้ปี 2560 ในการเร่งแก้ไขปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาดในช่วงปิดเทอม 2/2559 เพื่อลดความเดือดร้อนต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั่วประเทศ และยังต้องการให้มีการเพิ่มคุณภาพ และมาตรฐานของนมโรงเรียนให้สูงขึ้น เพื่อให้เด็กนักเรียนได้ดื่มนมคุณภาพ อีกทั้งยังเตรียมปรับวิธีการจัดสรรโควตาให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใสกับผู้ประกอบการ เพื่อประโยชน์แก่นักเรียน เกษตรกร และสหกรณ์ โดยได้มอบหมายให้ อ.ส.ค. เร่งดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ) มีนโยบายในการเพิ่มคุณภาพและมาตรฐานนมโรงเรียนให้สูงขึ้น ภายในปี 2560 ตลอดจนให้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดสรรโควตานมโรงเรียนให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใส และตอบสนองความต้องการและประโยชน์แก่นักเรียน เกษตรกร และสหกรณ์อย่างยั่งยืน โดยทาง อ.ส.ค. ได้เร่งดำเนินการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง และในปีที่ผ่านมาการยกระดับคุณภาพมาตรฐานของน้ำนมดิบ ได้ผ่านมาตรฐานและเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ทั้งในเรื่องของแข็งในน้ำนม องค์ประกอบน้ำนม และเรื่องความสะอาดของน้ำนมเป็นต้น สำหรับแนวทางการยกระดับในช่วงต่อไป คือ เทอม 1/2560 จะต้องยกระดับให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดเป็นนโยบายและสั่งการในที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากปริมาณน้ำนมดิบในช่วงปิดเทอมจะมีปัญหาทุกปี ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ) ในฐานะประธาน Milk Board จึงได้มอบหมายให้ อ.ส.ค.ดำเนินการจัดการประชุมกับผู้ประกอบการเรื่องการบริหารจัดการน้ำนมดิบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำนมดิบที่ทำ MOU ไว้ ซึ่งมีอยู่ 3 ส่วนด้วยกัน คือ 1) นมโรงเรียน 2) นมพาณิชย์ และ 3) ผู้ประกอบการที่ใช้นมผงนำเข้า จะต้องมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยให้ผู้ประกอบการดูแลน้ำนมดิบในช่วงปิดเทอม ซึ่งผู้ประกอบการที่ผลิตนมพาสเจอไรซ์ ต้องนำนมไปผลิตเป็นนม UHT และจะมีกรรมการไปตรวจรับรองเพื่อติดตามประเมินผลว่ามีการดำเนินการจริงตามที่ได้ลงนาม MOU ไว้ "ในเรื่องการเตรียมการในช่วงเปิดเทอม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการขนส่ง การเก็บรักษา เพื่อไม่ให้นักเรียนได้รับนมที่ไม่มีคุณภาพ ทาง อ.ส.ค. จะเร่งดำเนินการขับเคลื่อนกระบวนการต่าง ๆ โดยใช้เครือข่ายของกระทรวงเกษตรฯ เอง ไม่ว่าจะเป็น Single Command ผู้ตรวจกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือกรมปศุสัตว์ เพื่อร่วมมือกันในการบริหารจัดการให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป" ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ