สรุปผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนมีนาคม 2560

ข่าวทั่วไป Tuesday April 11, 2017 17:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--หอการค้าไทย ผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมีนาคม 2560 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ยังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการโดยเฉพาะยางพารา ปาล์มน้ำมันและอ้อยปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยในหลายจังหวัดที่ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้นเริ่มขยายตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังมีความกังวลใจเกี่ยวกับราคาข้าวที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับสถานการณ์ไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ Brexit ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 65.1 71.4 และ 93.8 ตามลำดับ และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 15 24 และ 24 เดือนตามลำดับ โดยปรับตัวดีขึ้นทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ที่อยู่ในระดับ 64.3 70.3 และ 92.8 ตามลำดับ แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้น แต่ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตมากนัก การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีทุกรายการดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เช่นเดียวกัน โดยอยู่ที่ระดับ 76.8 ซึ่งเป็นระดับที่ดีที่สุดในรอบ 24 เดือนนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 เป็นต้นมา การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนัก ทั้งนี้ ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวนสูง ราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าวยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ยังคงเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นโดยรวมของประเทศไทยในอนาคต สำหรับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยอยู่ที่ระดับ 54.5 ซึ่งเป็นระดับที่ดีที่สุดในรอบ 13 เดือนนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2559 เป็นต้นมา แสดงว่าผู้บริโภครู้สึกว่าภาวะเศรษฐกิจและการจ้างงานในปัจจุบันยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อสถานการณ์ในอนาคตที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เช่นเดียวกันโดยปรับตัวสู่ระดับ 84.8 ซึ่งเป็นระดับที่ดีที่สุดในรอบ 25 เดือนนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 เป็นต้นมา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ว่าการบริโภคของภาคประชาชนจะฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยเฉพาะในช่วงปลายไตรมาสที่สองหากรัฐบาลอัดฉีดเงินงบประมาณกลางปีกว่า 1 แสนล้านบาทผ่านโครงการพัฒนา 18 กลุ่มจังหวัดในไตรมาสที่ 2 ได้ตามแผนที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยเพราะมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปัจจุบันและในอนาคต เพราะเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงของการเริ่มฟื้นตัวและการฟื้นตัวยังไม่ได้กระจายตัวไปยังทุกภาคอุตสาหกรรมหรือทุกพื้นที่ อีกทั้ง ราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าวยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำทำให้กำลังซื้อในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศยังไม่ฟื้นตัวมากนัก อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการบริโภคน่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง ถ้าสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกคลี่คลายลง และการส่งออกฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ ตลอดจนราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญรัฐบาลใช้งบประมาณกลางปีกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรมในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ