คุยกับSMEsแบรนด์ความงามไทย เน้นวัตถุดิบไทยส่งขายอินเตอร์

ข่าวทั่วไป Tuesday May 2, 2017 17:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 พ.ค.-- ภายในงานอาเซียนบิวตี้ 2017 งานแสดงสินค้าความงามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน คึกคักไปด้วยนักธุรกิจในอุตสาหกรรมความงามที่ต่างมุ่งหวังสร้างคู่ค้าเจรจาทำธุรกิจ ด้วยตลาดความงามไทยมีมูลค่ากว่า 2.8 แสนล้าน มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10% ต่อปี ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยตัดสินใจเริ่มต้นแบรนด์ความงามและก้าวเข้าสู่อีกหนึ่งอุตสาหกรรมศักยภาพของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยความต้องการของผู้บริโภคอาเซียนและผู้บริโภคทั่วโลกที่เชื่อถือในคุณภาพและชื่นชอบในสมุนไพรและวัตถุดิบพื้นบ้านของไทยเป็นโจทย์หลัก "มะรุม" มะตุ้มส่งออกจีน คุณนงลักษณ์ สิงห์แก้ว เจ้าของแบรนด์ "มะรุมทอง" ที่ผลิตน้ำมันมะรุมด้วยกรรมวิธีสกัดเย็นซึ่งสามารถคงคุณค่าและเก็บรักษาวิตามินเอ วิตามินอี วิตามินซี และสารต่อต้านอนุมูลอิสระถึง 46 ชนิดที่มีอยู่ในมะรุมไว้ได้อย่างสมบูรณ์ บอกเล่าถึงที่มาของการก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมความงามว่า เดิมทีนั้นตนทำธุรกิจขายสมุนไพรมาก่อน และเห็นถึงความนิยมที่คนเอเชียมีต่อสมุนไพรไทย ซึ่งนอกจากฤทธิ์ทางยาแล้วก็ยังให้คุณค่าในเรื่องของการบำรุงและเสริมความงามได้อีกด้วย จึงได้นำมะรุมที่เดิมทีตนส่งออกเป็นสมุนไพรครั้งละกว่า 20 ตันมาผ่านกระบวนการสกัดเย็นเพื่อกักเก็บรักษาคุณค่าทั้งหมดเอาไว้จนเกิดเป็นน้ำมันมะรุมสีทองบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในหมู่ผู้บริโภคจีน โดยมะรุม 12 กิโลกรัม จะสามารถสกัดเย็นออกมาเป็นน้ำมันบริสุทธิ์ได้ 1 ลิตร โดยนอกจากการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคจีนแล้ว คุณนงลักษณ์กำลังวางแผนตีตลาดไต้หวันและญี่ปุ่นอีกด้วย "เห็ดนางรมทอง" จากงานวิจัยสู่เครื่องสำอาง จากความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาสารสกัดธรรมชาติเห็ดนางรมทองของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ที่พบว่าในเห็ดนางรมทองนั้นสามารถช่วยสร้างคอลลาเจนใต้ผิวหนังซึ่งนำไปสู่การลดเลือนริ้วรอย ทั้งยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ก่อให้เกิดความสนใจในการนำงานวิจัยมาสร้างแบรนด์เครื่องสำอางที่เน้นวัตถุดิบจากไทยแต่ประสิทธิภาพนั้นก้าวไกลเทียบอินเตอร์จนเกิดเป็นแบรนด์ AMBER เจ้าของสิทธิ์ในการนำงานวิจัยชิ้นนี้ไปผลิตเป็นสินค้าแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย โดยมองตลาดเป้าหมายเป็นไทยและกลุ่มอาเซียนที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และเพื่อควบคุมคุณภาพในการผลิต เจ้าของแบรนด์ได้ลงทุนสร้างฟาร์มเห็ดนางรมทองที่ได้มาตรฐานเพื่อควบคุมผลผลิตให้มีความสะอาดและปลอดภัย นำไปสกัดแล้วได้สารต่าง ๆ อย่างเต็มคุณค่า "น้ำมันมะพร้าว" กร๊าวใจแดนมังกร พิชยา คือตัวอย่างธุรกิจSMEsไทยที่น่านับถือ โดยคุณพิชยา ตุมตอง เจ้าของแบรนด์ เริ่มต้นการสร้างแบรนด์จากความชอบในน้ำมันมะพร้าวก่อน เมื่อใช้เป็นประจำไปจนถึงจุดที่รู้สึกว่าหาซื้อน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ที่มีคุณภาพได้ค่อนข้างลำบาก จึงได้ตัดสินใจผลิตและสร้างแบรนด์น้ำมันมะพร้าวของตนเองขึ้นมา การหาข้อมูล งานวิจัย และขอคำปรึกษาจากกระทรวงเกษตรทำให้น้ำมันมะพร้าวพิชยาเป็นที่รู้จักกันในด้านในคุณภาพ และเมื่อได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยนเรศวรน้ำมันมะพร้าวที่ถือกำเนิดขึ้นในครอบครัวเล็ก ๆ แห่งเมืองอุตรดิตถ์ก็เป็นที่รู้จักไปไกลถึงประเทศจีน โดยจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ซึ่งผ่านการค้นคว้าและพัฒนามาเป็นอย่างดีคือสามารถเก็บได้นานถึง 3 ปี โดยไร้กลิ่นเหม็นหืนซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์จากน้ำมันพืชต่าง ๆ ปีนี้ พิชยามีแผนที่จะเข้าไปทำการตลาดในกัมพูชาและเวียดนาม ส่วนเร็ว ๆ นี้ น่าจะได้พบกันในพารากอนและท็อปส์ภาคเหนือ "ข้าวไทย" ใสๆ สวยๆ จากความเชี่ยวชาญในการแปรรูปข้าวมามากกว่า 80 ปี ประกอบกับการค้นคว้าและทำงานวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริหารรุ่นใหม่เล็งเห็นถึงศักยภาพของข้าวที่มีอยู่อย่างหลากหลายเกินกว่าที่จะนำมาบริโภคเพียงอย่างเดียว ก่อให้เกิดเป็นแบรนด์ LADY AUDREY ผลิตภัณฑ์แป้งเครื่องสำอางจากข้าวบริสุทธิ์ที่ควบคุมความมัน มอบเนื้อสัมผัสบางเบา เหมาะกับผิวของสาวไทย สาวเอเชีย และเหมาะกับการใช้ในเขตประเทศร้อนชื้นอย่างที่สุด โดยสร้างเอกลักษณ์อันโดดเด่นในการสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด อีกทั้งยังเป็นเจ้าของสิทธิบัตรนี้แต่เพียงผู้เดียวอีกด้วย "พญายอ" อ้อล้อเมียนมา เนื่องจากพญายอ หรือเสลดพังพอนตัวเมีย อุดมไปด้วยสารละลายบิวทานอล และสารประกอบฟลาโวนอยด์ที่สามารถระงับอาการอักเสบได้เป็นอย่างดี กลุ่มสาวสวยคนรุ่นใหม่ที่อยากมีแบรนด์เครื่องสำอางบำรุงผิวเป็นของตัวเอง จึงจับเอาพญายอมาใส่ไว้กับสครับเนื้อละเอียดที่ตัวสครับทำมาจากข้าวหอมมะลิ เพื่อผสานกำลังในการบำรุงและดูแลรักษาผิวในขั้นตอนเดียว โดยผู้สร้างแบรนด์ Grab The Grain ได้เปิดเผยว่า จากการเดินงานแสดงสินค้ามาหลากหลายงานและการศึกษาติดตามเทรนด์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน ทำให้ตัดสินใจสร้างแบรนด์สินค้าบำรุงผิวที่มีลักษณะเป็นโฮมเมดขึ้นมา เนื่องจากผู้บริโภคในปัจจุบันนิยมใช้เครื่องสำอางที่มีสารสกัดจากธรรมชาติและผ่านกระบวนการที่ไม่อิงกับสารเคมีมากนัก โดยตลาดหลักได้แก่เมียนมา เนื่องจากผู้บริโภคชาวเมียนมานิยมใช้เครื่องสำอางไทยและสนใจในผลิตภัณฑ์จากข้าวเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังตั้งเป้าส่งออกไปที่กัมพูชาและเวียดนามอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ