กระทรวงเกษตรฯ หารือญี่ปุ่น เดินหน้าศึกษาโครงการคลองผันน้ำร่วมกับถนนวงแวน รอบที่ 3 เตรียมการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ข่าวทั่วไป Tuesday May 2, 2017 11:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือร่วมกับ นายยูกิโนริ เนโมโตะ (Mr.Yukinori NEMOTO) ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวญี่ปุ่น ณ ห้องรับรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมจึงต้องบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยกระทรวงเกษตรฯ มีแผนการบริหารจัดการน้ำทั้งในระยะเร่งด่วนและแผนในระยะยาว ซึ่งในส่วนหนึ่งของแผนได้มีการดำเนินงานร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่นโดย Japan International Cooperation Agency (JICA) ได้ให้การสนับสนุนทางวิชาการกับประเทศไทยในการดำเนินโครงการทบทวนแผนแม่บทการป้องกันบรรเทาอุทุกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และการดำเนินการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางการบรรเทาและป้องกันอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน โดยมีระยะเวลา 2 ปี (2555 - 2556) ซึ่งความร่วมมือดังกล่าว สืบเนื่องจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงในประเทศไทย ทั้งนี้ จากผลการศึกษาโครงการดังกล่าว ได้มีการเสนอให้มีการพัฒนาคลองผันน้ำควบคู่กับถนนวงแหวน รอบที่ 3 เพื่อช่วยในการระบายน้ำหลากบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดอยุธยาลงสู่อ่าวไทย ซึ่งจะช่วยลดระดับน้ำ 2แห่ง คือ ลำน้ำเจ้าพระยา จากจังหวัดอยุธยา ถึงกรุงเทพฯ และแม่น้ำป่าสักในช่วงปลายน้ำ และจะช่วยลดความเสี่ยงจากการพังทลายของคันกั้นน้ำตลอดแนวของพื้นที่คุ้มกัน ดังนั้น ในปี 2557 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน จึงร่วมกับกระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง ดำเนินการศึกษาโครงการคลองผันน้ำร่วมกับถนนวงแวนรอบที่ 3 ต่อจากผลการศึกษาเดิมจาก JICA ซึ่งปฏิบัติงานร่วมกับ JICA Survey Team โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน ม.ค.60 - ก.พ. 61 รวมระยะเวลา 14 เดือน เพื่อหาทางผนวกถนนวงแหวน รอบที่ 3 และคลองผันน้ำเข้าด้วยกันโดยใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ของญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญในการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและต่อเกษตรกร อีกทั้งได้มีการจัดลำดับการดำเนินงานของแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบตามความสำคัญเร่งด่วน ซึ่งหากการดำเนินงานเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ก็จะได้หาข้อสรุปในการผนวกคลองผันน้ำกับวงแหวน รอบที่ 3 ซึ่งจะช่วยบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ