CAT ขอใช้คลื่นทดสอบเทคโนโลยีกรุยทาง IoT

ข่าวเทคโนโลยี Thursday May 4, 2017 12:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--NBTC Rights บมจ. กสท โทรคมนาคม มีหนังสือลงวันที่ 20 มีนาคม 2560 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) แจ้งความประสงค์ขออนุญาตใช้คลื่นความถี่ 920 – 925 เมกะเฮิรตซ์ เป็นการชั่วคราว ระยะเวลา 180 วัน เพื่อทดสอบเทคโนโลยี Internet of Thing (IoT) ผ่านโครงข่าย LoRaWan (Long Range, Low Power, Wide Area Network) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายที่สามารถรับ-ส่งข้อมูลได้ระยะไกลโดยใช้พลังงานน้อยเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีอื่นๆ โดยจะเป็นการร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท SK Telecom ทำการทดลองทดสอบในพื้นที่ 4 แห่ง ได้แก่ บริเวณสนามหลวงและพระบรมมหาราชวัง บริเวณคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตบางแสน และบริเวณจังหวัดภูเก็ต ทั้งนี้ แหล่งข่าวภายในสำนักงาน กสทช. เปิดเผยว่า การทดลองทดสอบดังกล่าวคาดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันโลกกำลังพัฒนาเข้าสู่ยุค IoT กล่าวคือเป็นเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่จะเชื่อมโยงอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน โดยอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ สามารถสื่อสาร เชื่อมต่อ มีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบและทำงานร่วมกันได้ด้วยข้อมูลที่จัดเก็บจากอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ผ่านอุปกรณ์ Sensor และนำมาประมวลผลและวิเคราะห์ผ่านเทคโนโลยีการประมวลผลแบบคลาวด์ และเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ โดยเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ สามารถเชื่อมโยงและสื่อสารกันได้ผ่านระบบเชื่อมโยงด้วยเทคโนโลยีต่างๆ เช่น เทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ (HSPA, LTE) เทคโนโลยี Wide Area Network (WiFi, LoRaWan)เป็นต้น ซึ่งเทคโนโลยี IoT นี้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้งานในชีวิตประจำวันได้หลากหลายทั้งในระดับบุคคลและองค์กร เช่น ใช้ควบคุมสิ่งของต่างๆ ภายในบ้านและสำนักงาน ใช้ติดตามยานพาหนะหรือบุคคล ควบคุมการจราจร ระบบรักษาความปลอดภัย การแพทย์ทางไกล การควบคุมการเปิดปิดไฟและอุณหภูมิภายในบ้าน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เทคโนโลยี IoT จะเป็นจริงขึ้นมาได้ จำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีโครงข่ายสำหรับการรับ-ส่งข้อมูล เทคโนโลยี Sensor และรูปแบบการเชื่อมต่อกับโครงข่าย ตลอดจนระบบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลด้วย ซึ่งขณะนี้มีบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม ผู้ให้บริการโทรคมนาคม รวมไปถึงสถาบันการศึกษาต่างๆ เริ่มให้ความสนใจเทคโนโลยี IoT กันมากขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ