กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระดมนักวิชาการสนับสนุนนโยบายฉบับใหม่

ข่าวทั่วไป Friday November 23, 2001 16:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--อิมเมจ อิมแพค
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับสำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน (GTZ) ระดม นักวิชาการกว่า 10 คน ร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อหาแนวคิดและแนวทางปฏิบัติสนับสนุน "นโยบายการใช้ สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชปี พ.ศ. 2545 - 2549" ฉบับแรกของไทย พร้อมรออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเพื่อใช้ร่วมกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 ในเดือนมกราคม ปี 2545
ดร.กุสตาฟ เอ็ม มาวเรอร์ ที่ปรึกษาอาวุโส โครงการไทย-เยอรมันเพื่อการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกับสำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน หรือ GTZ จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง "นโยบายใหม่เกี่ยวกับวัตถุอันตรายทางการเกษตรเพื่อความปลอดภัยของชีวิต สิ่งแวดล้อม และการส่งออก" โดยได้ระดมนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมให้ความรู้และความคิดเห็นในครั้งนี้จำนวน 12 คน อาทิ ฯพณฯ นที ขลิบทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศ.ดร.อมร รักษาสัตย์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองเลขาธิการสำนักงาน คณะกรรมการ อาหารและยา นางจิราพร ศรีพลากิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุอันตรายการเกษตร ฯลฯ
"วัตถุประสงค์ของการสัมมนาครั้งนี้เพื่อหาแนวความคิดและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับนโยบายฉบับใหม่ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ GTZ ได้ร่วมกันจัดทำขึ้นในเรื่อง "นโยบายและแผนแม่บทการใช้สารป้องกันกำจัด ศัตรูพืชปี พ.ศ. 2545 - 2549" ซึ่งเป็นฉบับแรกของประเทศไทย เพื่อดำเนินการปรับปรุงกฎหมายและแผนปฏิบัติงานที่มีอยู่ให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม" ดร.มาวเรอร์ กล่าว และให้รายละเอียดว่า
เดิมมาตรการในการควบคุมดูแลสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชเป็นเพียงส่วนหนึ่งในข้อกำหนดของ พระราชบัญญัติวัตถุอันตรายปี พ.ศ. 2535 เท่านั้น ทำให้มีการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างไม่ถูกต้อง และทำให้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม รวมถึงเกษตรกรผู้ใช้สารเคมีด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้จัดทำ "นโยบายและแผนแม่บทการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชปี พ.ศ. 2545 - 2549" ขึ้น โดยขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้นำเสนอนโยบายและแผนแม่บทดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแล้ว และเมื่อผ่านการอนุมัติก็จะใช้ร่วมกับ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม ปี 2545 นี้
ดร.มาวเรอร์ กล่าวด้วยว่า เป้าหมายของร่างนโยบายและแผนแม่บทฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อปรับปรุงและพัฒนาผลิตผลการเกษตรของประเทศไทยให้มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้เกี่ยวข้องและประชาชนทุกคน เนื่องจากนโยบายและแผนแม่บทดังกล่าวมีจุดประสงค์ที่ต้องการจะลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะการใช้อย่างไม่ถูกวิธี ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้จะมุ่งเน้นการให้ความรู้แก่เกษตรกรให้ใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกวิธี และยกเลิกสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชบางชนิดที่มีพิษร้ายแรง และพัฒนาคุณภาพของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีอยู่ เนื่องจากในปี 2543 ประเทศไทยมีการนำเข้าปริมาณสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชสูงถึง 33,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 6.3 พันล้านบาท
"ภายหลังจากเกิดภาวะวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจในปี 2540 จะเห็นได้ชัดว่าการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ทางด้านการเกษตรเป็นปัจจัยหลักปัจจัยหนึ่งที่ช่วยค้ำจุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ดังนั้นจึงต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้สินค้าส่งออกของประเทศไทยมีมาตรฐานเทียบเท่ากับมาตรฐานสากลโลก สิ่งเหล่านี้จะสามารถดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จได้ด้วยการควบคุมการผลิตเพื่อการส่งออกที่ดีขึ้น ซึ่งการนำเอานโยบายทางด้านสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่เข้มงวดมาใช้ย่อมจะเป็นปัจจัยหลักที่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ในที่สุด" ที่ปรึกษาอาวุโส โครงการไทย-เยอรมันฯ กล่าว และเปิดเผยว่า
จากสถิติที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าสินค้าเกษตรของไทยจำนวนมาก มีสารพิษตกค้างในปริมาณที่สูงเกินกว่ากำหนดของ CODEX ตามข้อตกลงของกลุ่มสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งพบสารพิษตกค้างอยู่ในผลิตผลการเกษตรเพียงร้อยละ 1 - 2 เท่านั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องให้ความรู้แก่เกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องให้ใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกวิธี เพื่อสุขภาพของชีวิตมนุษย์ และการส่งออก ทั้งนี้ เนื่องจากไทยมีความจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับระบบการค้าเสรีตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลก หรือ WTO ในเรื่องมาตรฐานสารพิษตกค้างในผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร รวมถึงข้อกำหนดจากการประชุมสิ่งแวดล้อมโลก หรือ Earth Summit ขององค์การสหประชาชาติที่กำหนดให้มีการจัดการสารเคมีให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน หรือ GTZ (Deutche Gesellschaft fur Technische Zusammenarbeit) เป็นองค์กรหลักที่ให้การสนับสนุนด้านวิชาการและเงินทุนแก่ประเทศไทยปีละกว่า 320 ล้านบาท เป็นเวลากว่า 40 ปี รวมทั้งสิ้นกว่า 30 โครงการ ทั้งในด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านวิศวกรรม การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การเกษตรและอุตสาหกรรม ปัจจุบัน GTZ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเอชบอร์น ประเทศเยอรมนี และมีเงินทุนหมุนเวียนปีละกว่า 38 พันล้านบาท
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
คุณสุนีรัตน์ เงินพูลทรัพย์
คุณเต็มศิริ สุจริตฉันท์
บริษัท อิมเมจ อิมแพค จำกัด ผู้ดำเนินงานประชาสัมพันธ์
โทร. 0-2253-6809 - 11 โทรสาร 0-2253-6805--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ