กรอบแนวทางการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สำหรับ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ และการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี

ข่าวทั่วไป Tuesday May 9, 2017 16:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 พ.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการของกรอบแนวทางการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสำหรับ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ (กรอบแนวทางฯ) และการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามกรอบแนวทางฯ ดังกล่าว พร้อมทั้งอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่เกี่ยวข้องตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้ 1. วัตถุประสงค์ของกรอบแนวทางฯ เห็นชอบการกำหนดวัตถุประสงค์หลักของการทำงานวิจัยและพัฒนา (Research and Development : R&D) โดยมุ่งเน้นการพัฒนา 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ประกอบด้วย คลัสเตอร์ 1 : กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ คลัสเตอร์ 2 : กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ คลัสเตอร์ 3 : กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม คลัสเตอร์ 4 : กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่าง ๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกล ฝังตัว และคลัสเตอร์ 5 : กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง เป็นไปตามความต้องการของภาครัฐและภาคเอกชน ดังนี้ 1.1 เป็นการพัฒนางานวิจัยที่ตรงตามความต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรม (Demand-driven Research) 1.2 เป็นการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถของกลุ่มอุตสาหกรรม 1.3 เพื่อเร่งสร้างขีดความสามารถและคุณภาพงานวิจัยของประเทศอย่างเร่งด่วน 2. แนวทางการดำเนินงาน เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการตามกรอบแนวทางฯ ดังนี้ 2.1 ให้ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านของ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักในหน่วยงานภาครัฐ บริษัท เอกชน กลุ่มบริษัทเอกชน หรือนิติบุคคล เป็นผู้กำหนดหัวข้อการวิจัยและพัฒนา เพื่อว่าจ้างมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานภาครัฐในการทำวิจัยและพัฒนา 2.2 ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับมหาวิทยาลัยดำเนินการคัดเลือกและจัดสรรนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยของภาครัฐ เข้าไปร่วมดำเนินการวิจัยและพัฒนาในกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ทั้งนี้ อนุโลมให้ว่าจ้างนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยนอกเหนือจากภาครัฐทั้งไทยและต่างชาติได้ สำหรับรูปแบบการทำวิจัยและพัฒนาอาจดำเนินการในลักษณะชุดโครงการ (Program-based Research) ซึ่งให้มหาวิทยาลัยของรัฐหรือหน่วยงานภาครัฐประมาณการค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเป็นกรอบงบประมาณไว้ล่วงหน้า (Multiyear-budget Framework) 2.3 ให้ภาคเอกชนจาก 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาโดยภาคเอกชนมีบทบาทหลักในการสนับสนุนแหล่งเงินทุน และภาครัฐมีบทบาทในการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งให้จัดตั้งคณะกรรมการสานพลังประชารัฐของทั้ง 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการทำวิจัยและพัฒนา และมีอำนาจหน้าที่ในการรับรองการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี 2.4 ให้ผู้ร่วมว่าจ้างการทำวิจัยและพัฒนา และผู้ทำวิจัยและพัฒนาร่วมพิจารณาตกลงเรื่องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาตามความเหมาะสม 3. สิทธิประโยชน์ทางภาษี อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาร่วมกันสำหรับ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ ดังนี้ 3.1 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และกลุ่มบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่มีค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาร่วมกันตามโครงการสานพลังประชารัฐและได้รับการพิจารณาอนุมัติจากคณะกรรมการสานพลังประชารัฐเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีเฉพาะด้านใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักนำมาหักเป็นรายจ่ายเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้สูงสุด 3 เท่าเป็นระยะเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชี สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2560 – 31 ธันวาคม 2562 ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลแต่ละรายดังกล่าวที่ได้จ่ายไปเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต้องไม่เกินกว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับอยู่ในปัจจุบันตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วย การยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 598) พ.ศ. 2559 3.2 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลและกลุ่มบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมตามข้อ 3.1 ข้างต้น ต้องไม่ถือหุ้นทางตรงและทางอ้อม และไม่มีอำนาจควบคุมหรือกำกับดูแลการดำเนินงานและบริหารงานไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนของผู้รับทำการวิจัยที่ได้รับรายจ่ายจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าว รวมทั้งต้องไม่นำรายจ่ายดังกล่าวไปใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน 4. การดำเนินการขับเคลื่อนและการกำกับดูแลเห็นชอบให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้งคณะกรรมการสานพลังประชารัฐของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมหลักเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินการขับเคลื่อนกรอบแนวทางฯ และการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เช่น การอนุมัติโครงการวิจัย การรับรองค่าใช้จ่ายของแต่ละบริษัทที่จ่ายให้กับผู้รับจ้างทำการวิจัย และการขึ้นทะเบียนการเป็นผู้รับทำวิจัย เป็นต้น 5. ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับการดำเนินการตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบดังกล่าว กระทรวงการคลังคาดว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมของประเทศและผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 5.1 ภาคเอกชนหรือภาครัฐได้นวัตกรรมที่ตรงตามความต้องการและวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้พัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายและใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมได้อย่าง มีประสิทธิภาพ 5.2 หน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชน กลุ่มบริษัทเอกชน หรือนิติบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านของ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศมีแรงจูงใจในการผลักดันให้เกิดการทำวิจัยและพัฒนาตลอดจนเกิดการผลักดันให้มีการสร้างองค์ความรู้ ชี้แนะ และสนับสนุน (Mentoring) ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs/Startups อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 5.3 ส่งเสริมให้มีการลงทุนใช้จ่ายเพื่อทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Expenditure on R&D : GERD) มากกว่าร้อยละ 1 หรือ 130,000 ล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ