โยคะกับเบาหวาน

ข่าวทั่วไป Wednesday May 17, 2017 10:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--โรงพยาบาลพระรามเก้า โยคะในปัจจุบันถูกประยุกต์มาเป็นการออกกำลังกาย ซึ่งต่างกับโยคะแบบเดิมที่ฝึกลมหายใจและสมาธิเป็นหลัก แต่โยคะในปัจจุบันก็ยังคงไม่ทิ้งการฝึกลมหายใจเข้าให้ลึกและหายใจออกยาว หรือที่เรียกว่า "ปราณยามะ" ทำให้โยคะได้ประโยชน์ครอบคลุมหลายด้านทั้งในแง่เสริมสร้างกล้ามเนื้อและเพิ่มความยืดหยุ่นให้ร่างกาย รักษาสมดุลร่างกายให้ดีขึ้นไปพร้อมๆ กันกับได้รับความผ่อนคลายจิตใจ ช่วยให้ มีสมาธิ มีสติ ทำให้คลายความเครียดคลายกังวล สามารถป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรคเครียดและภาวะซึมเศร้าได้ เพราะทำให้จิตใจมีความสงบเย็น สามารถควบคุมอารมณ์และปลดปล่อยอารมณ์อย่างถูกต้องได้ ควบคุมพฤติกรรมได้ดีขึ้น พญ.ดุจฤดี อภิวงศ์ แพทย์ด้านจิตเวช โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่าโยคะสามารถควบคุมโรคเบาหวานได้ โดยมีการศึกษาวิจัยพบว่าโยคะมีผลดีกับหลายๆ โรครวมถึงโรคเบาหวาน บนสมมุติฐานที่ว่าการฝึกลมหายใจและท่าโยคะบางท่าควบคู่กันสามารถช่วยกระตุ้นการทำงานของเบต้าเซลล์ของตับอ่อนได้ดีขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอินซูลิน (Insulin Sensitivity) จึงลดภาวะการดื้อต่ออินซูลิน (Insulin Resistance) ได้ สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือด ทั้งขณะอดอาหารและหลังรับประทานอาหารได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้การฝึกโยคะยังสามารถช่วยลดไขมันในร่างกายและเพิ่มมวลกล้ามเนื้ออีกด้วย มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ทำการวิจัยพบว่า กลไกการควบคุมน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ฝึกโยคะ มีการเปลี่ยนแปลงระดับสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน อีกทั้งเปลี่ยนระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียด และยังทำให้ผู้ป่วยมีวินัยในการรับประทานยาเบาหวานอีกด้วย มีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าการฝึกโยคะ โดยฝึกปราณยามะ 30 นาที ตามด้วยท่าอาสนะ และปิดท้ายด้วยท่าศพ 15 นาที ผู้ป่วยโรคเบาหวานหลายคนจะรู้สึกว่ามีสุขภาพที่ดีขึ้นภายใน 7 – 10 วัน และพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงในระดับน้ำตาลในเลือด ในผู้ป่วยบางรายสามารถลดปริมาณยาได้ด้วย ผลของการฝึกโยคะต่อร่างกาย ทำให้ลดไขมันใต้ผิวหนังและลดน้ำหนัก ทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานหลายรายมีสุขภาพที่ดีขึ้นและระดับน้ำตาลลดลง ผลของโยคะในผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวาน พบว่าติดตามผู้ป่วยไป 7 ปี ผู้ป่วยเหล่านี้มีระดับน้ำตาลในเลือดที่ดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน โดยติดตามผู้ป่วยระยะยาว 2 – 7 ปี พบว่าผู้ป่วยทั้งหมดระดับน้ำตาลลดลงภายใน 3 เดือน และสามารถลดยาลงได้ เทียบกับผู้ที่ไม่ได้ฝึกโยคะหรือหยุดฝึกไป ผลของโยคะต่อภาวะแทรกซ้อนพบว่า การฝึกโยคะมีผลต่อระดับหลอดเลือดเล็กและใหญ่ ทำให้มีผลต่อการควบคุมความดันและระดับไขมันในเลือดด้วย โดยการฝึกโยคะในผู้ป่วยเบาหวานที่มีความดันโลหิตสูง หลังจากฝึกไป 3 สัปดาห์ พบว่าระดับของความดันลดลง ใช้ยาควบคุมความดันโลหิตสูงลดลง และพบว่าผู้ป่วยยังไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ด้วย เช่น โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคไต โรคที่เกิดจากไขมันในเลือดสูง เป็นต้น สำหรับระดับไขมันในเลือดหลังจาการฝึกโยคะท่าต่างๆ พบว่าระดับ LDL ลดลง และเพิ่มระดับ HDL นอกจากนี้ โยคะยังมีผลต่อประสิทธิภาพของปอด ผลต่อระดับภูมิคุ้มกันในเซลล์ รวมทั้งผลในการป้องกันการเกิดโรคเบาหวานในคนทั่วไป ในการศึกษานี้ยังบอกถึงกลุ่มท่าอาสนะ ท่าเรือ ท่างู ท่าคันไถ ท่าวีรบุรุษ ท่าธนู ท่าบิดตัว ว่าช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามท่าอาสนะอื่นๆ ของโยคะที่ไม่พบว่าช่วยลดน้ำตาลในเลือดก็ยังมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายในแง่อื่นๆ เช่นกัน และทั้งนี้การทดลองในผู้ป่วยที่ได้ฝึกโยคะต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือน แล้ววัดระดับน้ำตาลในเลือด โดยที่มีผู้เข้าร่วมการศึกษาบางคนหยุดฝึกไปแล้วกลับเข้ามาฝึกใหม่ เมื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือดแล้วพบว่า ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีเท่าผู้ที่เข้าฝึกโยคะต่อเนื่องตลอด 3 เดือน หากอยากได้ผลตามการศึกษาดังกล่าว ควรฝึกโยคะอย่างต่อเนื่องสัปดาห์ละ 3 ครั้งเป็นอย่างน้อยควบคู่ไปกับการออกกำลังกายแบบอื่นด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ