สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 15-19 พ.ค. 60 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 22-26 พ.ค. 60 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 22, 2017 16:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--ปตท. สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบและราคาน้ำมันสำเร็จรูปปรับเพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent)เพิ่มขึ้น 2.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 52.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI)เพิ่มขึ้น 2.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 49.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 2.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 51.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ด้านราคาเฉลี่ยน้ำมันสำเร็จรูป ราคาน้ำมันบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 2.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 65.18 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 1.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 61.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่ ปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อราคาน้ำมันดิบ · ซาอุดีอาระเบียและรัสเซียมีข้อคิดเห็นตรงกันในการขยายเวลามาตรการปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบออกไปจนสิ้นสุดไตรมาส 1/2561 นานกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เพื่อให้ปริมาณสำรองน้ำมันดิบโลกลดลงอย่างต่อเนื่องจนกลับเข้าสู่ระดับค่าเฉลี่ย 5 ปี ในช่วงสิ้นปีนี้ต่อต้นปีหน้า · Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 12 พ.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.8 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 520.7 ล้านบาร์เรล · The Joint Organizations Data Initiative (JODI) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของซาอุดีอาระเบีย เดือน มี.ค. 60 ปรับตัวลดลงจากระดับ 10.01 ล้านบาร์เรลต่อวัน เดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 9.90 ล้านบาร์เรลต่อวัน · สำนักสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของจีน ในเดือน เม.ย. 60 ลดลงจากปีก่อน 3.7% อยู่ที่ 3.89 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปัจจัยส่งผลลบต่อราคาน้ำมันดิบ · Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 19 พ.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 8 แท่น (เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 18) อยู่ที่ 720 แท่น · รายงานฉบับเดือน พ.ค. 60 ของ IEA ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันดิบโลกปี พ.ศ. 2560 อยู่ที่ 1.28 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากคาดการณ์ในเดือนก่อนหน้า 0.04 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากความต้องการใช้ที่ลดลงในสหรัฐฯ เกาหลีใต้ และอินเดีย · นักลงทุนลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงจากสถานการณ์ทางการเมืองในสหรัฐฯ ที่ไม่แน่นอนจากความกังวลว่าประธานาธิบดี Donald Trump อาจถูกถอดถอน (Impeachment) หลังกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เริ่มสอบสวนกรณีชุดหาเสียงเลือกตั้งของ Trump ในปี พ.ศ. 2559 อาจจะโยงใยกับรัสเซีย · Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานการณ์ลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ที่นิวยอร์ก และลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุด 16 พ.ค. 60 กลุ่มผู้จัดการกองทุนลดสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลงจากสัปดาห์ก่อน 9,710 สัญญา อยู่ที่ 184,312 สัญญา ลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 4 แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากข่าวการขยายกรอบมาตรการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตต่อออกไปอีก 9 เดือน มีความเป็นไปได้สูงขึ้น หลังจากที่รัฐมนตรีพลังงานของซาอุดีอาระเบียเผยข้อมูลใหม่ถึงการประชุมในวันที่ 24 - 25 พ.ค. 60 ว่ามีแนวโน้มที่จะใช้กรอบเป้าหมายตัวเลขเดิม โดยอาจมีผู้ผลิตรายเล็กอีก 1 -2 ประเทศเข้าร่วม ซึ่งถ้าทำได้จริงมีความมั่นใจว่าตลาดน้ำมันจะปรับเข้าสู่สมดุลโดยระดับปริมาณสำรองน้ำมันจะใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย 5 ปีได้ภายในไตรมาสที่ 1/2561 ทางด้านการเมืองของประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อย่างอิหร่าน นาย Rouhani ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทำให้ได้ครองตำแหน่งผู้นำประเทศต่ออีกสมัย ในเวลาเดียวกันประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump ได้เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดย King Salmanให้การต้อนรับเป็นอย่างดีและทั้งสองประเทศได้ลงนามข้อตกลงเกี่ยวกับอาวุธมูลค่า 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และได้เซ็นสัญญากับ Saudi Aramco บริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดีอาระเบียและยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานซึ่งมีมูลค่ารวมกันอย่างน้อย 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในวันนี้นาย Donald Trump ได้เดินทางไปยัง Tel Aviv และ Jerusalemประเทศอิสราเอลก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังยุโรป ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 51.0-55.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ WTI NYMEX จะอยู่ในกรอบ 48.0-52.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ในกรอบ 50.0-54.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นจากความต้องการน้ำมันเบนซินในหลายประเทศเพิ่มขึ้น อาทิ อินโดนีเซียผู้นำเข้าอันดับที่ 1 ในเอเชีย นำเข้าน้ำมันเบนซินในเดือน มิ.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.15 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 9 ล้านบาร์เรล เพื่อรองรับเทศกาลรอมฏอน ในวันที่ 27 พ.ค.-25 มิ.ย. 60 และ Reuters คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันเบนซินของเวียดนามซึ่งเป็นผู้นำเข้าอันดับที่ 2 ในเอเชีย ปี พ.ศ. 2560 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.8% อยู่ที่ 142,000 บาร์เรลต่อวัน และในปี พ.ศ. 2561 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.8% อยู่ที่ 154,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่บริษัทที่ปรึกษา Energy Aspects คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินของพม่า ในปี พ.ศ. 2560 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 24% อยู่ที่ระดับ 93,000 บาร์เรลต่อวัน และในปี พ.ศ. 2561 เพิ่มขึ้นจาก ปีก่อน 48% อยู่ที่ระดับ 111,000 บาร์เรลต่อวัน ประกอบกับ American Automobile Association คาดชาวสหรัฐฯ จำนวน 34.6 ล้านราย จะเดินทางโดยรถยนต์ด้วยระยะทางเฉลี่ยมากกว่า 80 กิโลเมตรต่อคน ในช่วงเทศกาลขับขี่ (เริ่มตั้งแต่วันทหารผ่านศึก – Memorial Day วันที่ 29 พ.ค. 60) ซึ่งเป็นจำนวนคนระดับสูงสุดในรอบ 12 ปี ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 พ.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.41 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 240.67 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 17 พ.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.1ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 13.2 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 พ.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.40 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 11.58 ล้านบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 64.0-68.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ตลาดน้ำมันดีเซล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้ในภูมิภาคเพิ่มขึ้น อาทิ จากเวียดนาม และอินโดนีเชีย โดย โรงกลั่น Dung Quat (กำลังการกลั่น 130,000 บาร์เรลต่อวัน) ของเวียดนามปิดซ่อมบำรุง ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-30 มิ.ย.60 และ โรงกลั่น Mina al-Ahmadi (กำลังการกลั่น 460,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Kuwait National Petroleum Co. Ltd. (KNPC) ปิดซ่อมบำรุง CDU-3 (กำลังการกลั่น 120,000 บาร์เรลต่อวัน) ในวันที่ 20-28 พ.ค. 60 ขณะที่ บริษัท Sinopec Shanghai Petrochemical Co. Ltd. ของจีนมีแผนส่งออกน้ำมันดีเซล ในเดือน พ.ค. 60 ลดลงจากเดือนก่อน 50,000บาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นปิดซ่อมบำรุงและโควต้าส่งออกเหลือน้อย ด้านปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 พ.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.90 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 146.82 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด17 พ.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.6 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 13.2 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 8 สัปดาห์ สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 60.0-64.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ