สคร. 12 สงขลา เผยภาคใต้ตอนล่างพบโรคหัดต่อเนื่อง แนะนำบุตรหลานรับวัคซีนป้องกันให้ครบ

ข่าวทั่วไป Tuesday May 23, 2017 14:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา แนะพ่อ แม่ ผู้ปกครองนำบุตรหลานไปรับวัคซีนป้องกันโรคหัดให้ครบตามกำหนด เผยปี 2560 ภาคใต้ตอนล่างพบการเกิดโรคหัดอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ข้อมูลจากกลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรอง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม -30 เมษายน 2560 พบว่าในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดสงขลา ตรัง สตูล พัทลุง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีผู้ป่วยด้วยโรคหัดแล้วจำนวน 598 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ตามลำดับ จึงขอเชิญชวนให้พ่อ แม่ ผู้ปกครองนำบุตรหลานไปรับวัคซีนป้องกันโรคหัดให้ครบตามกำหนด ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้รับวัคซีนป้องกันโรคหัด 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน ครั้งที่ 2 เมื่อเด็กอายุ 2 ปี ครึ่ง โดยให้ในรูปของวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน โรคหัด เป็นโรคไข้ออกผื่น พบได้ทุกวัย และพบได้บ่อยในเด็กเล็ก อายุ 1-6 ปี เกิดจากเชื้อไวรัส Measles ซึ่งพบได้ในจมูกและลำคอของผู้ป่วย ติดต่อกันได้ง่ายมาก โดยการไอ จาม หรือพูดกันในระยะใกล้ชิด เชื้อไวรัสจะกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย และเข้าสู่ร่างกายโดยทางการหายใจ บางครั้งเชื้ออยู่ในอากาศเมื่อหายใจเอาละอองที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสเข้าไปก็ทำให้เป็นโรคได้ ถ้าไม่มีภูมิต้านทาน ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และปัจจุบันพบผู้ป่วยเป็นเด็กที่มีอายุ 5 ปี ขึ้นไป มากขึ้น นอกจากนี้โรคหัดยังอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ อาการของโรคหัด เริ่มด้วยมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง ตาแฉะและกลัวแสง อาการต่างๆ จะมากขึ้นพร้อมกับไข้สูงขึ้น และจะสูงขึ้นเต็มที่เมื่อมีผื่นขึ้นในวันที่ 4 ลักษณะผื่นนูนแดงติดกันเป็นปื้นๆ โดยจะขึ้นที่หน้า บริเวณชิดขอบผม แผ่กระจายไปตามลำตัว แขน ขา เมื่อผื่นแพร่กระจายไปทั่วตัว ซึ่งกินเวลาประมาณ 2-3 วัน ไข้ก็จะเริ่มลดลง ผื่นระยะแรกมีสีแดงจะมีสีเข้มขึ้นเป็นสีแดงคล้ำ หรือน้ำตาลแดง บางครั้งจะพบผิวหนังลอกเป็นขุย การตรวจในระยะ 1-2 วัน ก่อนผื่นขึ้นจะพบจุดขาวๆ เล็กๆ มีขอบสีแดงๆ อยู่ในกระพุ้งแก้ม จะช่วยให้วินิจฉัยโรคได้ก่อนที่จะมีผื่นขึ้น อาการแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยมากโดยเฉพาะในเด็กเล็กคือ หูส่วนกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ สมองอักเสบ อุจจาระร่วง พบได้ประมาณ 1 ใน 1,000 ราย ซึ่งจะทำให้มีความพิการเหลืออยู่ ถ้าไม่เสียชีวิต การป้องกันโรคหัดนอกจากการรับวัคซีนป้องกันโรคให้ครบตามกำหนดแล้ว ยังต้องเฝ้าระวัง ป้องกันไม่ให้ตนเองหรือบุตรหลานได้รับเชื้อ โดยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย สำหรับในโรงเรียนอนุบาลหรือเด็กชั้นเด็กเล็ก ถ้าครูพบเด็กที่สงสัยว่าจะป่วยเป็นโรคหัด หรือมีอาการหวัด ตาแฉะ และไอมาก ควรจะได้ให้เด็กหยุดเรียนเพื่อป้องกันการติดต่อไปยังเด็กร่วมชั้นเรียนคนอื่นๆ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคหัดสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ