ภาคเอกชนดันเก็บภาษีแบบผสม อุดรูรั่วภาษีสรรพสามิต

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 25, 2017 09:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--Siam PR. Consaltant จากที่นางสาววิไล ตันตินันท์ธนา ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ภาษีสรรพสามิต ได้เปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่ากรมสรรพสามิตได้สรุปอัตราภาษีใหม่สำหรับทุกรายการสินค้าไว้เรียบร้อยแล้ว โดยแม้ว่าในภาพรวมภาระภาษีจะไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ภาษีสินค้าบางกลุ่มก็อาจเพิ่มขึ้นได้โดยเฉพาะสินค้านำเข้าที่มีการสำแดงราคานำเข้าต่ำกว่าที่เป็นจริง เช่น สุรา บุหรี่ รถยนต์ นางมัลลิกา ภูมิวาร จากโบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี คอนซัลติ้ง ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี ศุลกากรและการค้าการลงทุนระหว่างประเทศให้ความเห็นว่า "ระบบภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าส่วนใหญ่เก็บภาษีตามมูลค่าสินค้าเท่านั้น ทำให้ผู้ประกอบการหันไปเน้นการผลิตของราคาถูกหรือพยายามสำแดงราคานำเข้าต่ำเพื่อจะได้ลดภาระภาษี เนื่องจากของราคาถูกจะเสียภาษีน้อยกว่าของราคาแพง ทำให้กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น เมื่อ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 กำหนดให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตในระบบผสมได้ คือเก็บภาษีทั้งตามมูลค่าและตามปริมาณ ก็จะช่วยให้อุดช่องโหว่ในระบบภาษีและช่วยให้กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น" นางมัลลิกาได้ยกตัวอย่างปัญหาการที่บริษัทสำแดงราคานำเข้าหรือราคา CIF ต่ำกว่าความเป็นจริงซึ่งทำให้ต้องมีการประเมินราคาในอดีต เช่น รถ Grey market หรือ บุหรี่นำเข้าราคาถูกที่เข้ามาตีตลาดไทยจนทำให้มีการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่อยู่เป็นระยะๆ โดยล่าสุดได้ปรับขึ้นไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 แต่การจัดเก็บรายได้ของภาษียาสูบ ก็ยังต่ำกว่าเป้า โดยจากรายงานผลการจัดเก็บรายได้กรมสรรพสามิตในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 เก็บภาษียาสูบได้ต่ำกว่าเป้าไปถึง 14% (ต่ำกว่าเป้า 6,764.6 ล้านบาท) และเพิ่มขึ้นจากช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 เพียง 6.7% เท่านั้น แสดงให้เห็นว่ายังมีช่องโหว่ในการเก็บรายได้อยู่มาก ดังนั้น การที่กฎหมายภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่จะเปลี่ยนฐานภาษีตามมูลค่ามาเป็นราคาขายปลีกแนะนำ ย่อมจะช่วยลดปัญหาการสูญเสียรายได้ภาษีได้ ประกอบกับจะมีการใช้ระบบภาษีแบบผสมโดยเก็บภาษีทั้งตามปริมาณและราคา ที่จะมีภาษีตามปริมาณคอยทำหน้าที่เป็นเสมือนภาษีขั้นต่ำด้วย ซึ่งจะเป็นระบบภาษีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บได้มากขึ้น และยังสอดคล้องกับคำแนะนำของธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ อีกด้วย ระหว่างนี้ภาคเอกชนกำลังรอความชัดเจนในส่วนของกฎหมายลูกและพร้อมที่จะเข้าให้ข้อมูลและทำงานร่วมกับกรมเพื่อให้ได้ระบบภาษีสรรพสามิตที่มีประสิทธิภาพ เท่าเทียม เป็นสากลอย่างแท้จริง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ