ต้องทันธุรกิจยุคดิจิทัล!! ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ เปิด 8 ข้อที่เถ้าแก่ใหม่ต้องรู้

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday May 30, 2017 15:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--เจซีแอนด์โคพับลิครีเลชั่นส์ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เสริมแกร่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยกระดับศักยภาพการแข่งขันให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคและกระแสที่เปลี่ยนไปของโลกด้วย 8 ข้อสูตรสำเร็จธุรกิจยุคใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและกระแสโลก ดังนี้ 1) เปลี่ยนความคิดการทำธุรกิจ 2) รู้เทรนด์และจับอินไซท์ของผู้บริโภคได้ 3) สร้างแบรนด์ 4) นำเสนอจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ให้ถูกจุด 5) พัฒนาผลิตภัณฑ์และการออกแบบบรรจุภัณฑ์6) ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา 7) ออกแบบบริการที่ดี และ 8) วิเคราะห์ธุรกิจด้วยแผนผ้าใบธุรกิจ ทั้งนี้ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เตรียมเปิดตัวบริการให้คำปรึกษาธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการที่ โดยจะพร้อมให้บริการ ณ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ กรุงเทพฯ ณ อาคารไปรษณีย์กลาง ย่านเจริญกรุง เร็วๆ นี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) 1160 อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10501 โทรศัพท์ 02-105-7441 นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อย (SMEs) เป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ของวิสาหกิจทั้งหมดของประเทศไทย คือ เอสเอ็มอี อย่างไรก็ตามเอสเอ็มอีจำนวนมากในประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคในหลายๆ ด้านที่รวมไปถึงการผลิตสินค้าให้น่าดึงดูดใจและเป็นที่ต้องการของตลาด หากกลุ่มเอสเอ็มอีไทยได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการออกแบบที่ถูกต้อง ก็มีโอกาสที่พวกเขาจะนำองค์ความรู้ใหม่ๆ ไปใช้แก้ปัญหานี้ได้อย่างครบวงจร ด้วยเหตุนี้ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) จึงมุ่งหวังที่จะนำความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาธุรกิจด้วยกลยุทธ์การออกแบบ มาช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และได้สรุปออกมาเป็น 8 ข้อสำคัญสำหรับเอสเอ็มอีที่ต้องการประสบความสำเร็จในยุคปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง โดยต้องปรับตัวดังนี้ 1. เปลี่ยนความคิดการทำธุรกิจ การเริ่มต้นที่ดีที่สุดคือการเปลี่ยนความเชื่อเก่า และแนวความคิดเดิมๆ ในการทำธุรกิจ โดยผู้ประกอบการที่จะประสบความสำเร็จในยุคปัจจุบันต้องเข้าใจว่า สังคมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และตัวธุรกิจเองก็ควรพัฒนาตามเพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคให้มากที่สุด การเริ่มต้นเปลี่ยนความคิด เลิกยึดติดกับการทำธุรกิจแบบเก่าจึงเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดสำหรับการเริ่มต้น 2. รู้เทรนด์และจับอินไซท์ของผู้บริโภคได้ สามารถคาดการณ์ความต้องการที่อยู่ในใจลึกๆ ของผู้บริโภค และนำเสนอเป็นทางออกที่ตอบโจทย์ความต้องการได้ โดยการจะรับรู้ถึงอินไซท์ผู้บริโภคได้นั้น ต้องรู้เท่าทันเทรนด์ หรือกระแสแนวโน้มพฤติกรรมของคนในช่วงเวลานั้นๆ ก่อน 3. สร้างแบรนด์ ด้วยการเริ่มต้นด้วยการเข้าใจส่วนแบ่งตลาดของสินค้าหรือบริการ (Segmentation) ว่ามีกลุ่มเป้าหมายกี่ประเภท และทำการเลือกกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการเจาะ (Targeting) จากนั้นจึงพัฒนาจุดยืนของแบรนด์ให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย (Positioning) โดยทุกองค์ประกอบของแบรนด์จะต้องสะท้อนถึงจุดยืนที่อยู่ภายใต้ จุดหมายของแบรนด์ (Vision) และภารกิจของแบรนด์ (Mission) 4. นำเสนอจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ให้ถูกจุด ข้อสำคัญของการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพคือการถ่ายทอดสาร หรือจุดเด่นของธุรกิจให้ตรงตามความสนใจของกลุ่มผู้บริโภค เลือกลักษณะการถ่ายทอดสาร ช่องทาง ตัวสาร ให้เหมาะสม และสามารถดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคได้ในการได้รับชม รับฟังเพียงครั้งเดียว 5. พัฒนาผลิตภัณฑ์ และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เริ่มต้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยการ "สำรวจ" ด้วยการสังเกตอินไซท์ของผู้บริโภค จากนั้นจึงนำมา "สร้างสรรค์" ผ่านการคิดเชิงออกแบบ ว่าจะนำเสนอผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอย่างไร สำหรับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ให้คำนึงถึงหลักสำคัญ 4 อย่าง คือ สามารถบรรจุผลิตภัณฑ์ได้ สื่อสารบอกเล่าเรื่องราวได้ สื่อถึงแบรนด์ และมีฟังก์ชั่นการใช้งานพิเศษเพิ่มเติม 6. ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อไม่ให้ถูกขโมยไอเดีย ความคิดที่ปรากฏอยู่ในผลิตภัณฑ์และแบรนด์ที่ได้พัฒนาขึ้นมา ผ่านการจดทะเบียนต่างๆ อาทิ "เครื่องหมายการค้า" (Trademark) ที่ครอบคลุมโลโก้ของแบรนด์ "สิทธิบัตร" (Patent) เพื่อไม่ให้ผลิตภัณฑ์หรือผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นมาโดนลอกเลียนแบบ และ "ลิขสิทธิ์" (Copyright) ที่ป้องกันไม่ให้เนื้อหาที่คิดค้นขึ้นมาถูกคัดลอกแบบไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญานี้ยังอาจเป็นที่มาของการขยายรายได้ผ่านการ ขายลิขสิทธิ์ หรือขายแฟรนไชส์ธุรกิจอีกด้วย 7. ออกแบบบริการที่ดี การออกแบบบริการคือการออกแบบประสบการณ์ที่ผู้บริโภคจะได้รับจากแบรนด์ ตั้งแต่ยังไม่เข้าร้านจนกระทั่งชำระเงินเรียบร้อย ซึ่งการออกแบบบริการที่ดีต้องเกิดความสะดวกสบายทั้งกับพ่อค้า แม่ค้า และลูกค้า ซึ่งสามารถทำได้ผ่าน 3 ขั้นตอน คือ "สำรวจ" (Exploration) ความต้องการของลูกค้าด้วยการลงพื้นที่จริง สังเกตปัญหา และนำมาวิเคราะห์ จากนั้นจึง "สร้างสรรค์" (Creation) นำปัญหาที่ได้มาปรับปรุงแก้ไข ให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด หากยังไม่สำเร็จก็ต้องสร้างสรรค์ใหม่ ท้ายที่สุดคือการ "ทดลองทำจริง" (Implementation) เพื่อดูกระแสตอบรับจากผู้บริโภค 8. วิเคราะห์ธุรกิจด้วยแผนผ้าใบธุรกิจ ตรวจเช็คธุรกิจอีกครั้งด้วยการวิเคราะห์ 9 ปัจจัยตามแผนผ้าใบธุรกิจ(Business Model Canvas) ได้แก่ 1) จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ (Value Propositions) 2) กลุ่มลูกค้า (Customer Segment) 3) ช่องทางเข้าหาลูกค้า (Customer Channels) 4) ความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationships) 5) รายได้ของธุรกิจ (Revenue Streams) 6) กิจกรรมที่ทำ (Key Activities) 7) สิ่งที่ต้องมี (Key Resources) 8) พาร์ทเนอร์ที่สำคัญ(Key Partners) 9) ต้นทุนที่ต้องจ่าย (Cost Structure) อย่างไรก็ตาม ข้อแนะนำทั้ง 8 ข้อข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของบทบาทของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ(TCDC) ที่มุ่งเน้นเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการด้วยการใช้องค์ความคิดด้านการออกแบบ และกระบวนการคิดเชิงออกแบบ โดยเร็วๆ นี้ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ เตรียมเปิดให้บริการให้คำปรึกษาธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ และบริการข้อมูล แหล่งความรู้ เครือข่ายธุรกิจอีกมากมาย เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถสร้างธุรกิจได้อย่างมีศักยภาพและตรงตามนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของทางภาครัฐ นายอภิสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) 1160 อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10501 โทรศัพท์ 02-105-7441
แท็ก เอสเอ็มอี  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ