โครงการ มพช.ช่วยลดปัญหา เอ็นพีแอล และเพิ่มประสิทธิภาพในการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทในศาลได้

ข่าวทั่วไป Thursday January 25, 2001 13:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--มพช.
โครงการ มพช.ช่วยลดปัญหา เอ็นพีแอล และเพิ่มประสิทธิภาพในการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทในศาลได้ สำนักงานอนุญาโตตุลาการระบุ ประชาชนได้รับประโยชน์ เพราะได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย
นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการส่งเสริมงานตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า สำนักงานศาลยุติธรรมได้รับงบประมาณโครงการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทในศาลภายใต้มาตรการเสริมการพัฒนาชนบทและชุมชน(มพช.) จำนวน 250.8 ล้านบาท โดยวงเงิน 120.22 ล้านบาท ใช้เพื่อการจ้างบุคลากร จ้างลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งนิติกรอาวุโส เจ้าหน้าที่ธุรการ เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล จำนวน 533 ราย และจ้างผู้เชี่ยวชาญพิเศษ เพื่อดำเนินโครงการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทในศาล
นอกจากนี้วงเงินประมาณ 113.31 ล้านบาท จะใช้ในการจัดซื้อครุภัณฑ์เพื่อใช้ในโครงการและปรับปรุงห้องไกล่เกลี่ยและห้องทำงานของศาลจำนวน 149 แห่งทั่วประเทศ และวงเงินประมาณ 17.27 ล้านบาท ใช้ในการจัดฝึกอบรม สัมมนา ผู้ที่ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทในศาล ได้แก่ ผู้พิพากษา นิติกรอาวุโส และผู้เชี่ยวชาญพิเศษ และอบรมผู้ปฏิบัติไกล่เกลี่ย รวมทั้งเป็นค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ และจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการปฏิบัติงาน
นายสราวุธ กล่าวอีกว่า การใช้งบ มพช.ดังกล่าวช่วยเพิ่มศักยภาพการปฏิบัติงานไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทในศาลให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น อีกทั้งยังมีแนวทางการปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน และคู่ความความมีความพึงพอใจในการไกล่เกลี่ยคดี อีกทั้งยังลดปริมาณคดีในศาลให้น้อยลง และประชาชนจะได้รับความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เนื่องจากขณะนี้ปริมาณคดีที่เป็นมูลหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่ขึ้นสู่ศาลมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และศาลแพ่งธนบุรี ดังนั้นการไกล่เกลี่ยฯ จึงจำเป็นจะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญพิเศษในการทำหน้าที่ในการไกล่เกลี่ย โดยสำนักงานศาลยุติธรรมจะดำเนินการฝึกอบรมและขึ้นทะเบียนผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งงบประมาณดังกล่าวจะช่วยละปริมาณคดีแพ่งและคดีอาญา ที่เป็นความผิดอันยอมความได้ รวมทั้งคดีแพ่งที่เป็นคดีมูลหนี้ NPL ให้ลดลง ซึ่งปัญหา NPL นับเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในขณะนี้ ทำให้รัฐบาลต้องกันทุนสำรองไว้ส่วนหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว หากปัญหา NPL ลดลง ลูกหนี้ NPL สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยโดยรวมดีขึ้น
ทั้งนี้บุคลากรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษซึ่งทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและประนอมหนี้ในศาลนี้ จะเป็นผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการปรับโครงสร้างหนี้ และผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโครงการนี้เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2543 ถึง 30 กันยายน 2545
ขณะนี้ได้ดำเนินการจ้างบุคลากรเพื่อปฏิบัติงานไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทในศาลแล้ว รูปแบบการประชาสัมพันธ์ การจัดซื้อ / จัดจ้างอยู่ระหว่างการดำเนินการ นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการยกร่างกฎ ระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานโครงการดังกล่าว
ข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อ
ศูนย์ประชาสัมพันธ์ มพช. โทร.1140, 279-7937/ 616-2270-1--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ