นิสิตศิลปกรรม จุฬาฯคว้ารางวัลชนะเลิศ ออกแบบลายผ้าชุดลำลองบุรุษ-สตรี

ข่าวทั่วไป Tuesday October 10, 2000 11:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สองนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดออกแบบลายผ้าของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นำความรู้ทฤษฎีที่ร่ำเรียนมาผสานจินตนาการบรรเจิดสร้างสรรค์ลายผ้าบาติคที่สวยงามและแปลกใหม่เผยแพร่สู่สาธารณชน
นายศุภวัฒน์ วงศ์วัชรกมล นิสิตชั้นปีที่ 4 และน.ส.ชญานิษฐ์ นิธิเมธางกูร นิสิตชั้นปีที่ 3 ภาควิชานฤมิตรศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศจากการประกวดออกแบบครั้งนี้เป็นนิสิตสาขาวิชามัณฑนศิลป์ซึ่งส่งผลงานเข้าประกวดเป็นครั้งแรก โดยนายศุภวัฒน์ชนะเลิศ การประกวดประเภทลายผ้าบาติคชุดลำลองบุรุษ ส่วน น.ส.ชญานิษฐ์ชนะเลิศประเภทลายผ้าบาติคชุดลำลองสตรี ทั้งนี้นอกจากการประกวดทั้งสองประเภทนี้แล้ว ยังมีการประกวดออกแบบลายผ้าบาติคชุดทำงานบุรุษ ภาพพิมพ์ชุดลำลองบุรุษ บาติคชุดทำงานสตรี และบาติคชุดราตรีสตรีโดยมีนิสิตนักศึกษาและผู้สนใจจากทั่วประเทศส่งผลงานเข้าประกวดเป็นจำนวนมากและสามารถส่งผลงานได้ไม่จำกัดจำนวนและประเภท การประกวดในรอบคัดเลือกกำหนดให้ออกแบบเขียนลายผ้าด้วยสีธรรมดา จากนั้นคณะกรรมการจะคัดเลือกให้เหลือประเภทละ 6 ผลงานผ่านเข้ารอบโดยต้องออกแบบและตัดเย็บเป็นชุดสำเร็จรูปเพื่อให้นายแบบและนางแบบสวมใส่บนเวทีการประกวดรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน ที่ผ่านมา ณ โรงแรมโฟร์วิงส์
นิสิตทั้งสองกล่าวถึงการประกวดในวันนั้นว่าเป็นประสบการณ์ที่ประทับใจและน่าภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง การออกแบบลายผ้าของตนค่อนข้างฉีกแนวจากคนอื่นด้วยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ไม่ยึดติดกับแฟชั่นยุคปัจจุบัน ศุภวัฒน์ได้แนวคิดจากปลาตะเพียนสานและงานจักสานของไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่น่าสนใจและมีความเป็นสากลนำมาผสมผสานโดยใช้สีที่ตัดกัน ส่วนปลาตะเพียนเป็นการตัดทอนรูปทรงของปลาที่มีอยู่จริงให้เป็นการกราฟิค ด้านชญานิษฐ์นำแนวคิดจากการใช้เส้นและจุดมาทำเป็นลายผ้าโดยออกแบบเป็นลายจากมะม่วงหิมพานต์ที่เจริญงอกงามในสระที่มีสีสันสวยงาม ด้วยความคิดสร้างสรรค์ไม่ซ้ำใคร เสริมความโดดเด่นด้วยลีลาการเดินแบบของนายแบบและนางแบบที่สง่างาม ทำให้ชุดลำลองจากผีมือการออกแบบลายผ้าของนิสิตทั้งสองได้รับการตัดสินให้คว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง โดยได้รับเงินรางวัลคนละ 30,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่
สำนักงานสารนิเทศ จุฬา
โทร.218-3364-68--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ