กรมศุลกากรเปิดตัว“พันธมิตรศุลกากร”พร้อมมอบใบรับรองให้แก่สมาชิกเพื่อก้าวเข้าสู่ Customs 4.0

ข่าวทั่วไป Monday June 12, 2017 17:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง วันนี้ (วันพุธที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ) เวลา 09.00 น. ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เป็นประธานในการเปิดตัวโครงการ "พันธมิตรศุลกากร (Customs Alliances)" เพื่อปฏิรูปกระบวนการทำงานด้านศุลกากรให้มีความโปร่งใสเป็นธรรม และคล่องตัว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และให้เป็นไปตามมาตรฐานศุลกากรโลกในการก้าวเข้าสู่ Customs 4.0 พร้อมมอบใบรับรองการเป็นสมาชิกพันธมิตรศุลกากรให้แก่บริษัทที่ร่วมลงทะเบียนเป็นสมาชิก จำนวน325 บริษัท ในการนี้ได้รับเกียรติจากทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมงานกว่า 800 คน ภายในงานมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับมาตรการสำคัญต่างๆของกรมศุลกากร อาทิ โครงการพันธมิตรศุลกากร (Customs Alliances) ,Mobile Application สำหรับสืบค้นพิกัดอัตราศุลกากรและคำวินิจฉัย ตลอดจนสรุปประเด็นสำคัญของ พ.ร.บ.ศุลกากรฉบับใหม่ นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ปัจจุบันกรมศุลกากรกำลังดำเนินการปฏิรูปกระบวนการทำงานด้านศุลกากรให้มีความโปร่งใส เป็นธรรม และมีความคล่องตัวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและให้เป็นไปตามมาตรฐานศุลกากรโลก อันเป็นการก้าวเข้าสู่ Customs 4.0 โดยกรมศุลกากรตระหนักดีว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ของกรมศุลกากรกับภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการนำเข้า-ส่งออก ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่กรมศุลกากรจะต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก การสร้างกลไกความร่วมมือที่ดีในการทำงานระหว่างกรมศุลกากรกับภาคเอกชนจึงถือเป็นภารกิจหลักในการปฏิรูปกระบวนการทำงานของกรมศุลกากร ทั้งนี้กรมศุลกากรจึงได้จัดทำโครงการ "พันธมิตรศุลกากร(Customs Alliances)" เพื่อเพิ่มช่องทางในการสื่อสารระหว่างภาคเอกชนกับกรมศุลกากร ในการให้คำแนะนำติดต่อประสานงาน แก้ไขปัญหาและสร้างความชัดเจน ลดข้อโต้แย้งที่จะเกิดขึ้นในด้านต่างๆทั้งปัญหาเชิงนโยบายและปัญหาหน้างานปกติ อาทิ พิธีการศุลกากร พิกัดอัตราศุลกากร ราคา ถิ่นกำเนิด กฎหมายศุลกากร สิทธิประโยชน์ และปัญหาอื่น โดยมอบหมายเจ้าหน้าที่ศุลกากรจากส่วนกลาง (Account Officer Center : AOCX) ทำหน้าที่ติดต่อประสานกับผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านของแต่ละพื้นที่ (Account Officer Expert) เพื่อแก้ปัญหาและให้คำปรึกษาอย่างรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ประหยัดเวลา และลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินพิธีการทางศุลกากร ตลอดจนได้นำ 12 มาตรการสำคัญมาเป็นปัจจัยหลักในการดำเนินงาน อันเป็นการสร้างความโปร่งใสและความเป็นธรรมให้แก่ผู้ประกอบการ โครงการนี้ในระยะแรกเริ่มนำร่องกับ 8 กลุ่มพิกัดที่พบปัญหาสินค้าที่มีการนำเข้าและส่งออกมากสุด ได้แก่ รหัสพิกัดในหมวด 07 : สินค้าเกษตร , รหัสพิกัดในหมวด 30 : สินค้าเภสัชกรรม ,รหัสพิกัดในหมวด 39 : สินค้าพลาสติก , รหัสพิกัดในหมวด 72 : สินค้าเหล็ก , รหัสพิกัดในหมวด 73 : สินค้าผลิตภัณฑ์จากเหล็ก , รหัสพิกัดในหมวด 84 : สินค้าเครื่องจักร , รหัสพิกัดในหมวด 85 : สินค้าIT และรหัสพิกัดในหมวด 87 : สินค้ายานพาหนะ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับผลตอบรับจากภาคเอกชนเป็นอย่างดี ปัจจุบันมีภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 325 บริษัท หากมีข้อสงสัย ท่านสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโดยตรงกับทีมเลขาคณะทำงานฯ 063-904-2492 (นายปกรณ์ ตันมณีวัฒนา), 063-904-2493 (น.ส.กิตติมา ภาษีทวีเกียรติ), 063-904-2494 (ดร.ธีร์ จิตรพิทักษ์เลิศ) และ063-904-2519 (น.ส.ดวงกมล ขอพงษ์ไพบูลย์) โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น รายละเอียดประชาสัมพันธ์โครงการตามเอกสารแนบท้าย กรมศุลกากรมุ่งมั่นพัฒนาบูรณการการทำงานอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้งเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก อำนวยความสะดวกทางการค้า ปกป้องสังคม ดังวิสัยทัศน์กรมศุลกากรที่ว่า "องค์กรที่มุ่งมั่นให้บริการศุลกากรเป็นเลิศ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยและเชื่อมโยงการค้าโลก"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ